สิวิชัย อุดมวรนันท์

WEEK 32 : 6-12 ส.ค.
52 Weeks of Design

ABOUT HIM

สิวิชัย อุดมวรนันท์ (แว่น) :  เวลาทำงานออกแบบ เราควร “ใช้เงินลูกค้าให้เหมือนใช้เงินตัวเอง” คือ ถ้าเราเริ่มคิดว่านี่เป็นเงินของเรา ตรงไหนที่คิดว่าแพง ตรงไหนไม่จำเป็น...เราจะรู้เอง!! เราต้องไม่พยายามยัดเยียดสิ่งที่เราชอบให้ลูกค้า แต่ควรหาสิ่งที่เขาชอบให้เจอ แล้วทำให้มันใช้งานได้ ให้เหมาะสมกับเขามากที่สุด สถาปนิกผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการออกแบบทั้งในไทยและต่างประเทศ มากว่า 25 ปี และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท AOMO (Architecture Of My Own) พูดถึงวิธีคิดในการทำงานของเขาให้เราฟัง

แนวทางการทำงานของ  AOMO (เอโอเอ็มโอ) คือ เราเน้นทำงานออกแบบที่มันเรียบ “แต่ไม่เลี่ยน” ไม่น่าเบื่อ คือเราพยายามเน้นออกแบบที่รายละเอียดของอาคารมากกว่าจะไปเล่นที่ Form ของอาคาร...ความเรียบง่ายของตัวอาคารมันจะอยู่ได้นานกว่าตึกที่มันดูยุ่งๆ ครับ  คือ เน้นงานที่เป็นเชิงลึกที่มากกว่าการรับรู้ด้วยการมองเห็น  ไม่ใช่แค่สวยแล้วจบ แต่ไปเน้นที่รายละเอียดและความเข้ากันของวัสดุรวมถึงโครงสร้างต่างๆ ครับ  นอกจากนี้ เวลาออกแบบ ผมจะมองถึงคำว่า “เหมาะสม” กับสถานที่นั้นๆ มากกว่าคำว่า “โดดเด่น” เช่น ถ้าจะออกแบบอาคารในทุ่งนา  เราก็คงไม่ออกแบบอะไรที่ดูยุ่งๆ ไปอยู่กลางทุ่งนา  แต่ควรจะทำให้มันเรียบๆ เหมาะสมกับบริบทของสถานที่นั้นๆ คือ ทำตัวให้กลมกลืน ไม่ไปแข่งหรือขัดแย้งมากเกินไปครับ

จากประสบการณ์ด้านออกแบบที่ทำมาหมดแล้วทุกอย่าง ถ้าถามถึงงานที่ยากที่สุด!!  “ผมว่า คือ งานบ้านพักอาศัยครับ เพราะมันเรียกว่าเป็นงานที่สามารถทำลายอีโก้ของสถาปิกเยอะสุด (หัวเราะ) เพราะเราต้องออกแบบตามสไตล์และตามความต้องการของเจ้าของบ้าน แต่ผมก็ชอบนะ มันสนุกดี เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย…และเวลาที่งานเสร็จมันก็เป็นความภูมิใจ  บางทีเราก็ยอมทำงานโดยที่รู้ทั้งรู้ว่าขาดทุน  แต่บังเอิญเห็นไซต์งานสวย เรามั่นใจว่าโปรเจคนี้ ต้องออกมาสวยแน่ๆ เราอยากทำ ค่าแบบยังยอมลด  มันเหมือนกับเรา “ติดกับดักตัวเอง” (หัวเราะ) เพราะความสุขในการทำงาน คือ การได้เห็นงานเสร็จออกมาเหมือนแบบที่เราอยากให้เป็นครับ”

สำหรับงาน “บ้าน” บางทีเราต้องทำงานร่วมกับซินแส ซึ่งเมื่อก่อนผมคิดว่าสถาปนิกกับซินแสอาจไม่ค่อยถูกกัน (หัวเราะ) แต่หลังจากที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับซินแสหลายครั้ง ก็พบว่าบางทีก็มีข้อดีนะ  คือเราในฐานะสถาปนิก เราจะมองตามโจทย์ปัจจุบันของลูกค้า คืองบประมาณเท่านี้ ความต้องการแบบนี้  งั้นฟังก์ชั่นประมาณนี้น่าจะโอเค  แต่ซินแสเขาจะมองไปอนาคต เขาเห็นว่าจริงๆ อนาคตก็ต้องมีลูก ต้องมีห้องนั่งเล่นใหญ่ขึ้น ต้องมีห้องทำงาน ซินแสบอกว่าต้องสร้างบ้านหลังนี้ให้อยู่ไปได้อีก 30 ปี โดยไม่ต้องสร้างใหม่  สรุปคือบ้านหลังนั้นเลยต้องเพิ่มพื้นที่จาก 400 ตร.ม. ไปเป็น 700 ตร.ม. ภายในเดือนเดียว (ยิ้ม)...แต่ก็นับว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจสำหรับสถาปนิกครับ ที่เวลาออกแบบเราอาจจะต้องคำนึงถึงรูปแบบการใช้ชีวิตในอนาคตของลูกค้าเผื่อไว้ด้วย... แต่ทั้งนี้ การที่เราจะแนะนำหรือปรับเปลี่ยนอะไรก็ตาม  ผมว่าที่สำคัญ คือ ต้องรู้ว่าลูกค้าของเรามีกำลังที่จะทำอะไรขนาดนั้นหรือเปล่า 

งานสถาปนิก มันสนุกแค่ 20% แรก คือ ตอนร่างแบบครับ หลังจากนั้นทุกข์ระทม (หัวเราะ) เพราะมันมีเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขตลอดเวลา ต้องมีทะเลาะกับใครต่อใครบ้าง  เราต้องรับผิดชอบเพราะเราใช้เงินของลูกค้าสร้าง เราต้องบริหารจัดการเงินของเขาให้ดีที่สุดครับ 

SIVICHAI

  • สำหรับคนที่จะซื้อบ้านจัดสรร ขอให้เข้าไปดูบ้านที่ยังไม่ได้ตกแต่งด้วย อย่าดูแค่ “บ้านตัวอย่าง” ที่เขาแต่งเต็ม!! เพราะมันจะสวยมาก  ถ้าประเมินค่าตกแต่งออกมาจริงๆ ราคาอาจเกือบเท่าตัวบ้านเลย เช่น บ้าน 40 ล้าน ค่าตกแต่งบ้านตัวอย่าง อาจประมาณ 30 ล้าน รวม 70 ล้าน ถ้าคุณอยากได้สวยแบบบ้านตัวอย่าง ลองถามตัวเองว่าราคานี้ไหวไหม  ดังนั้น จึงอยากแนะนำให้ลองไปดู "บ้านเปล่าที่ยังไม่มีเฟอร์นิเจอร์" ด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าของจริงโครงการเขาให้อะไรคุณบ้าง และไปดูว่าพื้นที่ห้องนอนหรือห้องนั่งเล่นขนาดนี้ เพียงพอสำหรับคุณไหม ฟังก์ชั่นดีไหม “อย่าเพิ่งไปสนใจเรื่องการตกแต่ง” จะได้ไม่โดนหลอกตาไปกับ Space สวยๆ เพราะต่อให้ Space เหมือนกัน แต่แต่งไม่เหมือนกัน มันก็สวยไม่เหมือนกัน


  • โถงทางเข้า (Foyer) หรือชานบ้าน สำหรับผมมันเป็นพื้นที่ฟุ่มเฟือย แต่ถ้าคุณมีเงินจ่ายเพื่อทำพื้นที่ตรงนี้ได้ผมก็เห็นด้วย เพราะมันเป็นพื้นที่ที่จะทำให้ชีวิตเราสบายขึ้นคือพอเข้าประตูบ้านมาปุ๊บ คุณจะได้เข้านั่งถอดรองเท้า มีตู้เก็บรองเท้า เก็บร่ม เก็บหมวก ฯลฯ และมันจะเป็นพื้นที่กั้นระหว่างพื้นที่ “ข้างนอก” กับ “ข้างใน” คือ บางบ้านหรูหรามาก แต่พอเปิดเข้ามาปุ๊บเจอห้องนั่งเล่นเลยทันที ผมว่าแบบนี้มันเสียความเป็นส่วนตัว

  • ปัญหาเมื่อใช้โครงสร้างเหล็ก เดี๋ยวนี้เวลาสร้างบ้าน คนนิยมใช้โครงสร้างเหล็กมากขึ้น  ซึ่งปัญหาที่มักเจอในงานเหล็กและงานปูนคือเรื่องรอยต่อ เนื่องจาก "วัสดุสองอย่างนี้ มันยืดหดตัวไม่เท่ากัน" เหล็กจะยืดหดตัวง่ายกว่า เมื่อใช้ไปนานๆ มันจะแยกตัวกัน ไม่ได้บอกให้กลัวนะครับ เพราะทุกอย่างมีวิธีแก้ไข คืองานเหล็กมันสวย มันมีคาแรคเตอร์ของมันชัดเจน  ซึ่งถ้าคุณคิดจะเลือกใช้ก็ควรต้องรู้รายละเอียดที่ต้องจัดการกับมันด้วย

Favorite items

SB Design Furniture

Favorite Corners in SB Design Square

ชอบมุมนี้เพราะ มันเป็นมุมที่เอาหลายสไตล์มาผสมกัน มีเฟอร์นิเจอร์บางตัวที่ เอารายละเอียดดีไซน์ของเก่ามาทำให้เป็นของใหม่ได้ เช่น โต๊ะ คอนโซล ตู้ลิ้นชัก คือมันไม่ได้ใหม่มาก มันมีคนเคยทำแล้วแต่อันนี้ฉีกไปเลือกใช้วัสดุผ้ากับไม้ มันให้ความรู้สึกเหมือนซาฟารี  พอเอามาใส่ Detail แบบนี้แล้วมันดูโมเดิร์นขึ้น

ชอบมุมนี้เพราะ Scheme สีห้องนี้ดูสบายตา และมันมีรายละเอียดดีไซน์ที่ดูเหมือนเรียบ แต่ไม่เลี่ยน  ดูรวมๆ แล้ว มันให้ความรู้สึกง่ายๆ สบายๆ มันจะดูอบอุ่นชวนผ่อนคลาย

พบกับ Designer ทั้งหมด