พิพิธ โค้วสุวรรณ

WEEK 23 : 4-11 มิ.ย.
52 Weeks of Design

ABOUT HIM

พิพิธ โค้วสุวรรณ (โอ๊ค) : วันนี้มาพูดคุยกับ Interior Design Director จากสตูดิโอเล็ก ๆ ของเหล่าคนช่างคิด...ที่เต็มไปด้วย “ความคิดที่ยิ่งใหญ่” : Salt & Pepper Design Studio  บริษัทที่มีผลงานออกแบบโดดเด่นในหลากหลายมิติ ตั้งแต่งานสถาปัตย์  ตกแต่งภายใน ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ สร้างแบรนด์ รวมถึงงานนิทรรศการต่างๆ และที่สำคัญคือ งานพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ประเภทงานหัตถกรรม ด้วยความมุ่งหมายให้ชุมชนมีความยั่งยืนทางวัฒนธรรม  

“เมื่อหลายปีก่อน ผมมีโอกาสไปทำงานนิทรรศการที่ฝาง ได้ไปเห็นโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้วรู้สึกว่าแนวคิดเรื่องการทำให้ชุมชนเติบโตด้วยตัวเองและอยู่ด้วยกันอย่างสอดคล้องและยั่งยืน เป็นแนวคิดที่ยิ่งใหญ่มาก เห็นแล้วก็เกิดคำถามกับตัวเองว่า...เราจะทำอะไรให้สังคมของเราได้บ้าง เรามีความรู้เรื่องการออกแบบ แล้วแนวคิดที่ยิ่งใหญ่นี้...เราจะสืบทอดและสานต่อด้วยวิถีทางของเราอย่างไรได้บ้าง”  

คือพอเรามีโอกาสลงพื้นที่ไปเห็นงานหัตถกรรมหรืองานฝีมือของช่างฝีมือต่างๆ ที่ล้วนมีจุดเด่น แต่กลับไม่ได้ถูกพัฒนา เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สิ่งซึ่งทรงคุณค่าเหล่านั้นถูกปล่อยปละละเลย แล้วสุดท้ายลูกหลานเขาก็ไม่ได้สืบสานความรู้ เพราะต้องพาตัวเองเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ไปแสวงหาวัตถุข้างนอก จนละทิ้งความดีงามและคุณค่าทางวัฒนธรรมไป ดังนั้นในช่วง 3 – 4 ปีหลัง บริษัทเราเลยเข้าไปทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานหัตถกรรมและงานฝีมือต่างๆ มากขึ้น วัสดุที่เราใช้เริ่มเป็นวัสดุธรรมชาติมากขึ้น มันจึงเริ่มเกิดการผสมผสานของมิติการออกแบบ มันเริ่มจะเป็นการสำรวจ ทดลอง เพื่อค้นหาเทคนิคใหม่ๆ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของงาน Craft ทำให้เกิดงานออกแบบที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เราเริ่มจากการผลิตออกมาเป็นชิ้นงานก่อน เป็นของแต่งบ้าน เป็นเฟอร์นิเจอร์ แล้วก็เลยไปจนถึงงานออกแบบตกแต่งภายใน คือสิ่งที่เรากำลังออกแบบนั้น เหมือนเป็นสิ่งที่เราเดินทางไปกับมัน เราได้ลองหา Solution ใหม่ๆ หาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเอาผลิตภัณฑ์ที่เป็นงาน Craft และวัสดุธรรมชาติเข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานอินทีเรียร์ เช่นพวกงานผ้า (ย้อม-ถัก-สาน) งานเซรามิค งานไม้

นอกจากนี้ เรายังสนใจเรื่องของการนำวัสดุเหลือใช้จากระบบอุตสาหกรรม มาทำให้เกิดมูลค่ามากขึ้น เช่น พวกเยื่อไม้หรือวีเนียร์ มันเป็นขยะที่เกิดจากระบบอุตสาหกรรม เราเอามาทำให้มันสะอาดแล้วกลับเข้าสู่ระบบการสร้างสรรค์ใหม่อีกครั้ง คือผ่านกระบวนการที่เรียกว่าดีไซน์ เพื่อทำให้มันกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“ตอนนี้เวลาออกแบบตกแต่งบ้าน ผมเริ่มเปลี่ยนจากงานอุตสาหกรรมทั้งหมด ไปเป็นการใช้งาน Craft เข้าไปผสมทั้งในส่วนของเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง ไปจนถึงวัสดุที่ใช้ทำพื้น ผนัง เพดาน...การตกแต่งแบบนี้มันช่วยให้ลักษณะของการอยู่อาศัยมีความใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น...ผมว่างาน Craft เป็นตัวหนึ่งในการบ่งบอกรสนิยมและมุมมองของเจ้าของบ้านด้วย แล้วอีกอย่างหนึ่งเราเป็นมนุษย์ ยังไงเราก็หลีกเลี่ยงเรื่องของสัมผัสที่เราโหยหาแบบนี้ไม่ได้หรอก”

 ผมจะมองบ้านเป็นเหมือนเป็น “พื้นที่ว่าง” ...ความคิด ความรู้สึกของเราเปลี่ยนไปทุกปี ปีนี้ชอบสิ่งนี้ ปีหน้าชอบสิ่งนั้น อายุเปลี่ยน ความชอบก็เปลี่ยน...เราควรจะทิ้งบ้านเอาไว้ให้เป็น Space ที่สวยงามสักอันนึง และพร้อมที่จะให้เขามีอะไรเข้ามาเติมเต็มได้ตลอด ตามเงื่อนไขการใช้ชีวิตของเราที่เปลี่ยนไป เช่น จากที่เคยอยู่คนเดียว ก็แต่งงาน มีลูก หรือมีพ่อแม่มาอยู่ด้วย กลายเป็นครอบครัวใหญ่  “ดังนั้นเวลาจะออกแบบตกแต่งบ้าง สิ่งที่อินทีเรียร์ดีไซน์เนอร์ควรรู้ คือ อีก 3-5 ปี ข้างหน้า ลูกค้าหรือเจ้าของบ้านจะต้องการอะไร เหมือนต้องมองข้าม shot ไปให้ เพราะบ้านเนี่ยเป็นอะไรที่ต้องอยู่กันไปเป็นสิบปี หรือบางคนก็อยู่บ้านหลังเดียวไปตลอดชีวิต ดังนั้น “บ้าน” ควรต้องตอบความต้องการที่หลากหลายในแต่ละช่วงอายุของเขาได้

ผมรู้สึกว่า “อาชีพนี้ยังไม่มีความสุข” (หัวเราะ)  เพราะมันยังไม่เจอความสำเร็จที่เป็นจุดสุดท้าย มันยังไม่มีเส้นชัย...นิสัยของคนที่ทำงานในวิชาชีพนี้ (อินทีเรียร์ดีไซน์ดีไซน์เนอร์) คือ เราช่างสังเกตและไม่หยุดคิด ทำให้เรามองหาสิ่งใหม่ตลอด มันเหมือนมี milestone มากกว่า ว่าวันนี้เรามาถึงจุดหนึ่งแล้ว เรายังต้องเดินต่อเพื่อไปอีกจุดหนึ่ง Milestone ของผมวันนี้ คือ เราจะทำยังไงก็ได้ให้องค์ความรู้ของเรามันมีประโยชน์กับคนในหลายมิติ ไม่ใช่แค่กับลูกค้าที่จ่ายตังค์จ้างเราออกแบบตกแต่งบ้าน  เราอยากเอาองค์ความรู้ของเราไปพัฒนาชุมชน ไปช่วยผู้ประกอบการต่างๆ ที่เขายังขาดแนวคิดเรื่องการออกแบบเรายังคงต้องหาช่องทางที่จะประคับประคองสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ

OAK

  • การเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม่ใช่เรื่องฉาบฉวยแต่มันเป็น “การลงทุนระยะยาว” เราควรมองหาเฟอร์นิเจอร์ที่คุณภาพดี และอยู่กับเราไปได้นานๆ มากกว่าของราคาถูก ที่ซื้อง่าย แต่ใช้ได้ไม่นาน  สมมุติว่าถ้าคุณอยู่คนเดียว ยังไม่ได้แต่งงาน บ้านคุณก็ไม่จำเป็นต้องมีเก้าอี้ 10 ตัว (ที่คุณภาพไม่ดี) แต่คุณควรซื้ออาร์มแชร์ดีๆ สัก 1 ตัว ไว้นั่งพักเหนื่อย เวลาที่คุณกลับมาบ้าน มันช่วย refresh ตัวคุณได้ มันเป็น value ที่จะเกิดขึ้นกับตัวคุณโดยตรง 

  • การแต่งบ้านไม่ได้มีแค่เรื่องเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียว หลายคนมักลืมเรื่องของ “แสง” ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของบ้าน มันทำให้บ้านน่าอยู่และทำให้ mood & tone ของบ้านเปลี่ยนไปได้ทั้งหมด ดังนั้นอยากแนะนำว่า เวลาแต่งบ้านให้เผื่อสตางค์ไว้สำหรับเรื่อง lighting ด้วย 

  • การดูแลวัสดุ “ไม้” ผมแนะนำให้ดูแลด้วยสารจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันจะกอกหรือน้ำมันพืช สำหรับดูแลรักษาพวกจานชามที่ทำจากไม้ หรือใช้พวก Teak oil สำหรับการเช็ดถูเฟอร์นิเจอร์หรือพื้นผิวต่างๆ ที่ทำจากไม้ 

  • สำหรับคนที่ชอบแต่งบ้านด้วยวัสดุธรรมชาติ ผมอยากให้คุณเรียนรู้อย่างนึงว่ามันจะมีความเสื่อมไปตามธรรมชาติคุณอาจต้องเข้าใจ “ความงามในความเสื่อมไป” ของมันด้วย ไม่ใช่ว่าจะชอบแค่วันแรกที่ซื้อมาจากร้าน แล้วพอสีเริ่มเพี้ยนหรือด่างคุณก็รู้สึกไม่ชอบ...ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณอาจต้องลองเปลี่ยนไปใช้วัสดุอย่างอื่นจะดีกว่า

  • แสงธรรมชาติเป็นเรื่องดีที่สุดที่เราควรนำเข้ามาในบ้านคุณต้องเข้าใจก่อนว่า “แสง” กับ “ความร้อน” นั้นแตกต่างกันเราสามารถเปิดรับแสงได้ โดยไม่เอาความร้อนเข้ามาด้วยโดย  1.เปิดรับแสงในทิศทางที่ถูก คือ มีหน้าต่างอยู่ทางทิศเหนือ หรือทิศตะวันออก (แสงเหนือเป็นแสงที่สวยที่สุดของทุกวัน) 2.ใช้วัสดุที่ไม่สะท้อนแสง ไม่ใช้พวกผิวเงา ผิวเรียบ จะช่วยป้องกันแสงที่มันแยงตาจากการสะท้อนของแดดได้  3.ใช้ต้นไม้หรือการปูหญ้าเข้ามาช่วย เหล่านี้เป็นวัสดุที่ช่วยลดทอนความแข็งกระด้าง การสะท้อนจะลดลง แสงเงาจะเกิดมากขึ้น 

Favorite items

SB Design Furniture

Favorite Corners in SB Design Square

ชอบมุมนี้เพราะมันมีเรื่องของวัฒนธรรมเอเชียหลายอย่างมาผสมกัน รวมทั้งงาน Craft ด้วย และองค์รวมเรื่องของการใช้วัสดุ มันให้ความรู้สึกหรูหราและเท่ไปด้วยกัน...จากร้าน Schultz Design

ชอบมุมนี้เพราะการจัดสไตล์ห้องนี้ลงตัวมาก ทั้งเฟอร์นิเจอร์ สี ของตกแต่งเหมือนโรงแรมในยุโรปที่กำลังฮิตอยู่ในช่วงนี้ และช่วงปีที่แล้ว...จากร้าน Schultz Design

พบกับ Designer ทั้งหมด