ศุภรัตน์ ชินะถาวร

WEEK 33 : 13-19 ส.ค.
52 Weeks of Design

ABOUT HIM

ศุภรัตน์ ชินะถาวร (โต) : ผมเกิดในร้านอาหาร พ่อแม่ทำร้านอาหาร แล้วผมก็เสิร์ฟและล้างจานมาตั้งแต่เด็กครับ  และมันก็เป็น “ความบังเอิญ” ที่ได้ออกแบบร้านอาหารร้านแรกแล้วมัน “ประสบความสำเร็จมาก” เลยมีคนอยากใช้บริการเราให้ทำร้านนั้นร้านนี้ต่อมาเรื่อยๆ ครับ นี่คือคำกล่าว (ที่สุดแสนจะถ่อมตน) ของ Design Director & Founder จาก party / space / design หรือ p / s / d สตูดิโอออกแบบร้านอาหารมือหนึ่งของเมืองไทย ที่คว้ารางวัลชนะเลิศจากงานประกวดออกแบบร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Restaurant & Bar Design Awards ในปี 2016  และ 2017 ทั้งยังเป็น Shortlisted ในปี 2018 อีกด้วย และยังคว้ารางวัล Exterior South Asia And The Pacific ประเภท Restaurant จาก UNESCO ในงาน Prix Versailles ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส  รวมถึงรางวัลจาก  Good Design Awards ด้าน Graphic Design ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังคว้ารางวัลด้านการออกแบบจากเวทีระดับโลกต่างๆ อีกมากมาย...จนเราไม่กล้าจะเชื่อว่านี่คือความบังเอิญ แต่น่าจะเป็น...“ฝีมือล้วนๆ !!!”

p / s / d ได้สร้างสรรค์ประสบการณ์แห่งการกินที่ชวนประทับใจ ผ่านผลงานออกแบบร้านอาหารและคาเฟ่เก๋ๆ ที่สวยไม่ซ้ำกันเลยสักร้าน!! อาทิ Wine Republic, Too Fast To Sleep, SHUGAA, The Chocolate Factory, 1881 by Water Library เป็นต้น  ร้านอาหารเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงและลงทุน หลัก 10-100 ล้าน ดังนั้นคนที่ทำก็ย่อมมีความคาดหวังว่า “ห้ามเจ๊ง” เพราะเขาลงทุนไปเยอะ ทุกคนคาดหวังว่าร้านต้องดัง มันเลยเป็นบทบาทที่ค่อนข้างหนักหน่วงของนักออกแบบร้านอาหารครับ ว่าจะทำยังไงให้ขายดี คือ เราโฟกัสที่ร้าน “ต้องรอด” ไม่ได้โฟกัสแค่ร้านสวย

เรารู้ว่าลูกค้าของเรากังวลเรื่อง “คืนทุน” เราก็ซีเรียสเรื่องนี้เหมือนกัน เราไม่อยากให้เขาเปิดแล้วเจ๊ง และอีกอย่างที่เราซีเรียส คือ “ร้านต้องโดนจดจำ” เพราะลูกค้าของเราอยู่ท่ามกลางสนามแข่ง!!...งานยากที่สุด แต่ผมชอบมากที่สุดคือ ชอบร้านอาหารที่เจ๊งมาหลายๆ รอบ แบบที่ทำเท่าไหร่ก็ไม่ดีสักที หรือเป็นร้านที่ไปอยู่ในทำเลที่ใครทำก็ไปไม่รอด หรือแบรนด์ที่ใกล้ปิดแล้ว...มาเลยครับ เดี๋ยวเราแก้ให้ !!

“เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางร้านเจ๊งใน 3 เดือน ขณะที่บางร้านกำไร 200 ล้านใน 1 ปี...Logic คืออะไร ? ทำไมคนกินแต่ร้านนั้น? ทำไมลูกค้าเข้าซ้ำ? แปลว่า เขาทำอะไรบางอย่างไม่ได้ฟลุคนะครับ ไม่มีคำว่า “ฟลุค” ในธุรกิจนี้...ที่ p / s / d เราเหมือนเป็นที่ปรึกษาครับ  เราแนะนำให้ได้ทั้งเรื่องเชฟ  การจัดแสงในร้าน การเลือกโต๊ะ เก้าอี้ เพลงที่จะเปิด ชุดพนักงาน หรือแม้กระทั่งบริการภายในร้าน เราช่วยได้หมดเลย ถามว่ามันเกี่ยวกับดีไซน์ไหม...มันไม่เกี่ยว!! แต่เหมือนเราเล่นวงดนตรีออร์เคสตรา เราต้องเน้นว่าทำยังไงให้ทั้งวงโอเค ไม่ใช่โซโลไวโอลินเก่งอยู่คนเดียว คือเราอยู่ตรงนี้มาเกือบ 10 ปี และออกแบบมาเป็น 100 ร้าน เรามี Research และ Know-how ประมาณนึงในบริษัทของเรา เลยค่อนข้างมั่นใจว่า เรารู้ดีในเรื่องการทำร้านอาหารครับ”

ซึ่งสิ่งที่เราเน้นและเป็นส่วนที่ทำให้ลูกค้าประทับใจมากที่สุด คือเรื่อง Analysis ครับ เวลาได้โจทย์มา เราจะไปเดินวนรอบๆ ก่อน ไปดูว่า ร้านเพื่อนบ้านเขาเป็นใครบ้าง เพื่อมาดูว่าร้านของเราควรทำออกมาเบอร์ไหน (สำหรับผมเรื่อง “ทำเลที่ตั้ง” สำคัญน้อยกว่า “อาหารเป็นยังไง?” อาหารของร้านคุณดีขนาดที่ว่า “คนต้องควานหา” หรือเปล่า?!) รวมทั้งแอบไปกินที่ร้านโดยไม่บอกลูกค้าด้วย เพื่อจะได้เก็บข้อมูลจริงๆ ได้รู้ว่าร้านนี้ขายไม่ค่อยดีเพราะอะไร เช่น ครัวคุณอาจมีกลิ่น หรือไฟคุณแสงไม่สวย ฯลฯ  ซึ่งเราในฐานะนักออกแบบที่ซื่อสัตย์ ผมว่าเราควรจะบอกลูกค้าให้หมดครับ ว่าร้านคุณมีข้อดีข้อเสียยังไง และควรพัฒนาตรงไหน

ผมทานมังสวิรัติครับ เวลาไปร้านอาหารต่างๆ ผมจะให้น้องๆ ในบริษัทเป็นนักชิม ส่วนผมจะเป็นนักสังเกตการณ์ ซึ่งมัน “สนุกมาก”กับการเป็นนักสังเกตและเก็บข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจทุกอย่าง แล้วก็นำความรู้นี้มาให้กับคนที่มาจ้างเราออกแบบร้าน  อีกอย่างที่สนุกคือการได้กินร้านอาหารแพงๆ โดยไม่รู้สึกผิด แล้วผมก็อ้างว่าเป็นการเรียนรู้ของบริษัทเรา (หัวเราะ)...ยังรู้สึกสนุก และก็มีพลังตลอดครับ

SUPARAT

  • กฎข้อแรกในการเปิดร้านอาหาร คือ กินให้เยอะ !!! ถ้ากินไม่เยอะอย่าเพิ่งเปิดร้าน!!! ถ้ายังไม่ถึงขั้นที่จะเข้าใจเรื่อง “หลังบ้าน” ดีพอ ก็อย่าทำ “หน้าบ้าน”...ไปอยู่หลังบ้านก่อน ไปเป็นพนักงานหรือเป็นผู้ช่วยก่อนจะออกมาด้านหน้า

  • กฎข้อสอง คือ อย่าดูถูกผู้บริโภค เพราะเขาก็ช่างเลือกไม่ต่างจากเราหรอก ผมมั่นใจว่าถ้าเขารู้ว่าของคุณดีจริง เขาก็ยอมจ่ายเงินซื้อ คนเราเดี๋ยวนี้ยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อการกิน ฉะนั้น ถ้าคุณไม่ดูถูกผู้บริโภค ถ้าคุณคัดสรรและเลือกที่จะ “ขายของดี มีคุณภาพ” คุณจะสามารถขายมันในราคาที่สูงขึ้นได้และผู้บริโภคจะรู้สึกว่านั่นเป็นราคาที่สมเหตุสมผล    

  • ข้อควรรู้เกี่ยวกับโต๊ะอาหาร โต๊ะในร้านอาหารไม่จำเป็นต้องสูง 75 ซม. เช่น ถ้าคุณขายอาหารญี่ปุ่นชามโตๆ ความสูงของโต๊ะจะลดลงเหลือ 70 ซม. ยังได้เลย แต่ถ้าคุณขายซูชิเป็นจานๆ แบบใช้มือหยิบทานได้ คุณจะขยับโต๊ะให้สูง 76-77 ซม. ก็ทำได้ ในธุรกิจอาหาร ทุกอย่างไม่มีอะไรตายตัวครับ

Favorite items

SB Design Furniture

Favorite Corners in SB Design Square

ชอบมุมนี้เพราะว่าที่เก็บของเยอะดี  ถ้าผมต้องออกแบบบ้านตัวเอง สิ่งแรกที่ผมจะทำคือ ออกแบบที่เก็บของก่อน ที่เก็บของสำหรับบ้านคือ 50%ของการอยู่อาศัย  คนส่วนใหญ่มักพลาดตรงไม่ยอมคิดเรื่องเก็บของ... "ห้องเก็บของ” คือ สิ่งที่จะทำให้บ้านมีความสุข  ถ้าผมทำบ้านผมจะออกแบบ Shelf เก็บของที่ไม่ต้องเป็นห้อง เหมือนที่ออฟฟิศของ party/space/design ซึ่งไม่มีห้องเก็บของเลย จะมีแต่ Shelf เต็มผนังไปหมด  ผมว่าของทุกชิ้นที่ซื้อเข้ามา “มันจะไม่มีความหมาย ถ้าเราไม่เห็นมัน”   

ชอบมุมนี้ เพราะส่วนตัวผมเป็นคนชอบ Font  ชอบตัวอักษรครับ  คือรู้สึกว่าตัวอักษรมันทำงานได้หลายแบบ  ถ้าเรานำมารวมกันเป็นความหมายเมื่อไหร่ มันก็เป็นตัวสื่อความหมาย  ถ้าเราไม่ต้องการให้มันมีความหมาย เราก็นำมาจัดวางอย่างนี้ มันก็จะกลายเป็น Wall Decorative  

พบกับ Designer ทั้งหมด