อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ (นนท์) : A Hidden Bird is Often Heard…ประโยคสั้นๆ ในนิทานเด็ก ที่เคยอ่านในสมัยเรียน กลับกลายมาเป็นแนวทางในการทำงานออกแบบของคุณนนท์ในทุกวันนี้ “ผมรู้สึกว่าประประโยคนี้น่าสนใจ คือมันเหมือนกับเราอยู่ในที่ที่นึงแล้วเราก็ได้ยินเสียงนกร้องขึ้นมา ซึ่งเสียงนั้นมันทำให้บรรยากาศดีขึ้น คือเขาพยายามจะบอกว่าสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกดีนั้น จริงๆ แล้วคุณไม่จำเป็นต้องเห็นมันหรอก แต่ถ้าคุณอยู่กับมันไปเรื่อยๆ คุณภาพที่แท้จริงมันจะค่อยๆ ปรากฏออกมาเอง” สัปดาห์นี้ชวนมาทำความรู้จักกับสถาปนิกและผู้ก่อตั้ง INchan atelier บริษัทรับออกแบบสถาปัตยกรรมทั้งภายนอกและภายในที่โดดเด่นในเรื่องงาน Detail, Material และการจัดสรร Space อีกทั้งคุณนนท์ยังเป็นวิทยากรพิเศษด้าน Design and Culture หลักสูตรปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยรังสิตอีกด้วย
ที่ INchan atelier เราให้ความสำคัญกับคำว่า “เสน่ห์ (Charm)” และ “รายละเอียด (Details)” ของงาน เพื่อให้คุณได้ในสิ่งที่เรียกว่าคุณภาพจริงๆ แต่มันเป็นงานออกแบบที่คุณอาจจะไม่ได้ว้าว! ตั้งแต่แว่บแรกที่มองเห็น เพราะรูปร่างหน้าตามันอาจจะดูธรรมด๊าธรรมดา แต่ว่ามันจะซ่อนรายละเอียดที่ดีไว้ในนั้น ซึ่งผมมีความเชื่อในเรื่องนี้เยอะมากครับ คือ "เราไม่ได้เอาของดีที่สุดและแพงที่สุดมารวมกัน อันนั้นไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่หน้าที่ของเรา คือ เอาของทุกอันมารวมกันแล้วทำให้มันดีที่สุดมากกว่า" และมันกลายเป็น Motto ที่ผมแปะไว้ที่ออฟฟิศว่า เราต้องขยันพัฒนา Detail ไปเรื่อยๆ เพราะถึงแม้ว่าคนจะไม่เห็นก็ไม่เป็นไร แต่พอเขาใช้ไปเรื่อยๆ เขาจะรู้เอง เหมือนถ้าเป็นเฟอร์นิเจอร์ คือ มันก็ต้องพิเศษ ละเอียด และต้องอยู่สบาย คือเราไม่เคยออกแบบมาให้มันสวยแล้วจบ สองเดือนแล้วก็โยนทิ้งไป คือมันควรต้องสวยตามกาลเวลา สวยในบรรยากาศ ความรู้สึกแบบนี้ผมคิดว่าในจิตใต้สำนึกของทุกคนมีอยู่ เป็นความรู้สึกส่วนตัวไม่เกี่ยวกับคนอื่นแล้ว แต่เราใช้ไปเรื่อยๆ เราจะรู้เอง เพราะงานที่มี Detail ดี ผมว่าอยู่ไปแล้วมันจะมีความสุขใจไปด้วย ไม่ใช่แค่สุขกาย
เวลาออกแบบบ้าน เรื่องสวยและสบายมันเป็น Must Have อยู่แล้ว แต่ผมสนใจเรื่องคุณภาพมากกว่า เพราะหน้าที่ของสถาปนิกเวลาที่เราออกแบบอะไรสักอย่าง เราควรต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิต ซึ่งสำหรับผมมันไม่ใช่สิ่งที่เรียกกันว่าไลฟ์สไตล์ แต่ผมมองว่ามัน คือ คุณภาพชีวิตที่มันต้องยกระดับการใช้ชีวิตที่เป็นเรื่องพื้นฐานง่ายๆ ผมคิดว่าบ้านที่ดี เรื่องความเป็นระเบียบและการที่เจ้าของบ้านสามารถดูแลรักษาได้เองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าถ้าเรามีบ้านที่สวยมากแต่เราดูแลรักษามันไม่ได้เลย เราต้องจ้างคนอื่นมาดูแลรักษาตลอด แปลว่าเราจะมีระยะห่างระหว่างตัวบ้านกับเราอยู่เยอะมาก แต่ถ้าเราได้สัมผัสบ้านเราเอง จัดการบ้านเราได้เอง มันจะมีความสัมพันธ์ที่มันเกิดขึ้นระหว่างตัวบ้านกับเรา ผมว่าการดูแลรักษาบ้านหรือการทำงานบ้านได้เองเป็นเรื่องใหญ่ มันจะทำให้คุณอยู่นานและชื่นชมมันได้ทุกวันครับ
ถ้าถามถึงโปรเจคผมภูมิใจ ก็น่าจะเป็นที่ Huamark 09 ซึ่งเป็นออฟฟิศและบ้านของครอบครัวผมเองครับ คือ โปรเจคนี้เป็นโปรเจคที่ทำให้เราได้ทดลองทำอะไรหลายๆ อย่าง...อะไรหลายๆ อย่างที่ลูกค้าไม่เคยลองทำ เราอึดอัดเราเลยมาลองทำที่บ้านของเราเองเลย (ยิ้ม) และผมพยายามออกแบบเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นว่า แม้พื้นที่จะเล็กแค่ 80 ตารางวา เราก็สามารถออกแบบให้มันเหมาะสมและมีเอกลักษณ์ในแบบของเราได้
โดยที่เราตัดสินใจแบ่งพื้นที่ให้เป็นบ้านแค่ครึ่งนึงของที่ดิน ส่วนอีกครึ่งเราตั้งใจทำเป็นพื้นที่โล่งที่เป็นสีเขียวกับที่จอดรถ ออกแบบบ้านเป็นอาคารสูง 4 ชั้น และเอาฟังก์ชั่น 3-4 อย่างมารวมกัน คือ เป็นบ้าน เป็นออฟฟิศ แล้วชั้นบนสุดก็เป็นเหมือนที่สะสมงานศิลปะของผมด้วย และวิธีที่เราจัดการกับอาคารหลังนี้ คือ เราทำลองเรื่อง Detail กับ Material ที่น้อยคนจะใช้มัน คือ เราเอาซีเมนต์บล็อกมาทำตัวอาคาร เพราะเราเห็นข้อดีบางอย่างในตัววัสดุ คือ มันจะค่อยๆ ขึ้นคราบ (หลายคนอาจจะไม่ชอบ) แต่เรากลับรู้สึกว่า เวลาเห็นบ้านที่เสร็จใหม่ๆ มันเอี่ยมมาก มันสว่างและขาวดี พอผ่านกาลเวลาไปมันกลับดูโทรมลง เพราะสีมันซีดลงแล้วก็มีคราบ เรากลับมองว่าความซีดกับคราบ มันเป็นธรรมชาติที่เราต้องเจออยู่แล้ว แต่วัสดุอันไหน ที่จะทำให้มันมีเสน่ห์เวลาที่มันอยู่กับคราบกับความซีด แล้วก็คิดว่า เออ...อันนี้น่าจะใช้ได้ เรารู้สึกว่าปล่อยให้ข้างนอกมันดูเหมือนธรรมชาติของคราบไปเลย แล้วให้ไม้เลื้อยมันเกาะ
แต่พอเข้าไปในบ้าน เราทำเป็นอีกบรรยากาศนึง เป็นความขาว ความสะอาดและความอุ่นของไม้ ซึ่งทำให้ลูกค้าเริ่มเข้ามาคุยกับเราด้วยเหตุจากเจ้าอาคารหลังนี้ คือด้วยตัวอย่างที่เขาเห็นข้างนอกเขาอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรมาก แต่พอเข้ามาข้างในมันจะอีกลุคนึงเลย มันสร้างความน่าสนใจในความขัดแย้งระหว่างภายนอกกับภายใน และพื้นที่ครึ่งนึงยังเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งลูกค้าที่มาออฟฟิศจะได้เห็นว่าเล็กแค่นี้มันอยู่ได้ มันใช้ได้ และเล็กแค่นี้แต่ลองมองออกไปแล้ว คุณยังเห็นพื้นที่สีเขียวที่มีอากาศเหลือเป็นของคุณเองอีกตั้งเยอะ มันดีกว่านะ ซึ่งเป็นเรื่องนึงที่ผมพยายามจะโน้มน้าวลูกค้าเสมอ คือ คุณต้องมีอากาศเป็นของตัวเอง
อาชีพผมคืออาชีพทำลาย แต่ทำลายแล้วค่อยสร้างขึ้นมาใหม่ คราวนี้ถ้าเราจะทำลายอะไร เราก็ต้องสร้างให้มันคุ้ม สังคมเมืองที่มันโตขึ้น เราครอบครองพื้นที่ของสิ่งมีชีวิตอื่นเพื่อให้มาเป็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นของคน ผมมองว่าตัว Community ของอาคารสำคัญกว่าตัวอาคารหลังเดียว คือตัวอาคารไม่จำเป็นต้องโดดเด่นเกินหน้าใครหรอก อยู่เงียบๆ ก็ได้ แต่เวลาที่อาคารที่ดีๆ และอยู่เงียบๆ หลายอาคารรวมกัน แล้วมันเกิดเป็นหมู่บ้าน มันมีเสน่ห์กว่าอุ่นใจมากกว่า ฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราจะต้องสร้างอาคาร เราจะไม่ทำให้มันโฉ่งฉ่างแต่ถ้าดีเทลมันดีได้คุณภาพ อาคารที่ดีแล้วเวลาที่มันเก่าก็ให้มันเก่า แต่คือมันช่วยสร้างภาพลักษณ์ภายนอกที่น่าสนใจให้กับพื้นที่รอบๆ ด้วย ผมกลับมองว่าอันนี้สำคัญกว่า
ชอบมุมครัวที่จัดดิสเพลย์อันนี้ครับ เพราะผมรู้สึกว่ามันเก็บของได้เยอะดีครับ แล้วก็เป็น Combination ระหว่างของชิ้นเล็กกับชิ้นใหญ่ มีทั้งวางแนวตั้งแล้วก็วางซ้อนๆ กัน มันไล่เก็บตั้งแต่กล่อง แล้วก็ของแบนๆ แล้วก็ของที่เป็นแนวตั้งไล่ลง ดูน่าสนใจดีครับ
ชอบมุมนี้เพราะเฟอร์นิเจอร์มีหลาย Scale ผมรู้สึกว่าพื้นที่กระชับ มันน่ารักดีครับ