สรกิจ กิจเจริญโรจน์

WEEK 49 : 3-9 ธ.ค.
52 Weeks of Design

ABOUT HIM

สรกิจ กิจเจริญโรจน์ (ม่อน) :  “ที่ IF เราเลิกพูดคำว่า “สวย” กันไปแล้ว เพราะคำว่า “สวย” มันเป็นปัจเจก คือแล้วแต่คนจะมอง ส่วนใหญ่บนโต๊ะประชุมเราจะถกกันเรื่อง “คุณค่า” ของมันมากกว่า ว่ามันสื่อสารอะไรแล้วหรือยัง มันบอกเล่าเรื่องที่มันควรต้องเล่าแล้วหรือยัง” สัปดาห์นี้มาพูดคุยกับ Architect & Partner บริษัท IF (Integrated Field)

เราชอบตั้งคำถามเพื่อมองหาความเป็นไปได้...เวลาประชุมเรามักตั้งคำถามกันตลอดว่า ถ้าทำแบบนี้ล่ะ ถ้าทำแบบนั้นล่ะ มันจะเป็นยังไง? มันจะมีความเป็นไปได้ไหม? เพื่อมองหาความเป็นไปได้ของ Solutions ที่สามารถตอบโจทย์โปรเจคนั้นๆ ได้ดีที่สุดครับ...ถ้าเป็นงาน “บ้าน” มันคือการทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เราจะใช้การออกแบบยังไงเพื่อไปทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็ต้องมองไปในอนาคตด้วยว่า มันจะดีขึ้นกว่าเดิมได้ยังไง นั่นคือสิ่งที่เราพยายามทำกับการออกแบบบ้านครับ

เราไม่ได้มองว่า เดิมเขาเป็นแบบนี้ เราแค่เอาฟังก์ชั่นมาวางๆ อ่ะจบ! คุณอยู่ได้แล้ว...ถามว่าทำแค่นั้นอยู่ได้ไหม? ก็อยู่ได้นะเพราะบ้านเป็นปัจจัยสี่ครับ แค่ห้องเล็กๆ ห้องนึงก็อยู่ได้แล้ว ซึ่งก็ไม่ผิดที่บางคนจะบอกว่าทำแค่นี้ก็แฮปปี้แล้ว แต่มันก็จะมีคนอีกบางประเภทที่เขารู้สึกว่า เขาอาจขาดอะไรไปบางอย่าง แต่บอกไม่ถูกว่าคืออะไร เขาอาจมีบ้านอยู่ แต่พื้นที่มันยังดูไม่เติมเต็มชีวิตอะไรแบบนี้ ผมว่าหน้าที่สถาปนิกคือการเข้าไปเติมให้เต็ม แล้วยิ่งเห็นวันที่เขาเข้าไปแล้วรู้สึก โอ้โห! ชีวิต Complete แล้ว และเขาบอกกับเราว่าชีวิตนี้เขาไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว...แค่นี้แหละ ผมจะรู้สึกแบบว่าไม่ต้องเลยรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นอะไร คือผมถือว่าพวกเราสำเร็จแล้วโดยไม่ต้องมีใครมาให้รางวัล ไม่ต้องมีใครเอาผลงานไปลงโน่นนี่ แล้วบอกว่าบ้านหลังนี้สวย คือผมขอแค่ Owner บอกว่าชีวิตเขาต้องการแค่นี้แหละ นี่คือสิ่งที่...ถ้าออกแบบบ้านเราจะพยายามทำให้ได้ครับ

"การออกแบบตกแต่งบ้าน" เป็นงานที่เราต้องตอบโจทย์คนคนนึงหรือครอบครัวนึง  เราจะคุยประเด็นเรื่องฟังก์ชันกันค่อนข้างเยอะ  ซึ่งคำว่า “ฟังก์ชัน” ไม่ได้จบแค่ว่ามีห้องอะไร จำนวนเท่าไหร่ แต่มันคือเรื่องของการใช้ชีวิตเขาเป็นยังไง? ความต้องการลึกๆ เขาคืออะไร?  หรือเขาเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้พื้นที่หรือการใช้ชีวิตในบ้านอย่างไรหรือไม่? เวลาเราทำโปรเจคบ้านสักหนึ่งหลัง เราต้องเข้าไปอยู่กับเขาค่อนข้างเยอะเพื่อไปรู้ทุกซอกมุมในชีวิตเขา เพราะมันเป็นรายละเอียด ซึ่งบางทีเจ้าของบ้านก็บอกเราไม่ได้ว่าเขาต้องการอะไร  แต่เป็นหน้าที่เราที่ต้องเข้าไปสังเกตเข้าไปคุ้ยหาสิ่งนั้นออกมา แล้วตีความออกมาเป็นสถาปัตยกรรมที่มันตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเขาให้มากที่สุด

แต่ถ้าเป็นงาน Commercial ผมว่ามันมีอะไรที่มากกว่าแค่การออกแบบให้สวย เราไม่ได้มองแค่มิติของการออกแบบแต่เพียงอย่างเดียว คือ สมมุติโปรเจคนี้ใส่เงินลงไปกับการตกแต่งเยอะมาก แต่ผลลัพธ์ของการออกแบบมันไม่ได้ช่วยสร้างคุณค่าหรือประโยชน์ทางใดทางหนึ่งในแง่ธุรกิจกับโปรเจคนั้นๆ เลย  ถ้าเป็นแบบนั้น เราจะรู้สึกว่าเราทำหน้าที่ได้ไม่ดีเลยและหน้าที่ของสถาปนิกสำหรับเราก็ถือว่าล้มเหลวด้วย ขณะเดียวกัน นอกจากมิติเรื่องธุรกิจแล้ว งานออกแบบมันก็ต้องมี “คุณค่าในเชิงสถาปัตย์” ด้วยครับ คือ ผมว่าการ “สร้างตึก” กับการ “สร้างสถาปัตยกรรม” มันเป็นคนละเรื่องกันนะ  สำหรับผม “สถาปัตยกรรม” มันต้องให้ความหมายอะไรบางอย่าง  ต้องพูดหรือต้องเล่าเรื่องบางอย่างและทำให้คนที่เข้ามาใช้งานรู้สึกได้  แล้วมันจะดีมากๆ ถ้าสถาปัตยกรรมนั้นพูดในสิ่งที่มันควรต้องพูด คือผมจบตรีด้านสถาปัตยกรรมและต่อโทด้าน MBA พอมีงาน Commercial เข้ามา การที่เรามีความรู้เชิงธุรกิจประมาณนึง มันก็ช่วยทำให้เข้าใจมุมมองของ Owner  อะไรคือการตั้งคำถามในมุมของเขา และอะไรคือจุดที่เขาสามารถเอาสิ่งที่เราออกแบบไปสร้างคุณค่าต่อในเชิงธุรกิจได้  

IF ก่อตั้งโดยพาร์ทเนอร์ทั้งหมด 12 คน ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่ไม่เหมือนกัน เพราะจบมาคนละสาขา มีทั้ง Architect, Thai Architecture, Interior Design, Landscape, Graphic, Industrial Design  ทำให้ทุกโปรเจคของเราถูกคิดได้รอบด้าน เพราะมันถูก Integrate มาจากหลายแง่มุม...เราเชื่อในเรื่อง “ทีม” ครับ ซึ่งสิ่งนี้ผมพยายามจะปลูกฝังให้กับน้องๆ ที่เข้ามาทำงานกับ IF คือเราไม่ใช่ One Man Show ผมเชื่อว่าคนหนึ่งคนไม่ได้เก่งทุกด้าน แต่เมื่อคนหนึ่งเชี่ยวชาญอย่างนึง และอีกคนก็เชี่ยวชาญอีกอย่างนึง  พอมาทำงานร่วมกันความเชี่ยวชาญของแต่ละคนจะสามารถช่วยกันอุดช่องโหว่ของกันและกันได้ ซึ่งถ้าทำได้แบบนั้นมันก็น่าจะดี เราก็อยากปลูกฝังให้คนรุ่นต่อมาเห็นว่า การทำงานมันคือ “ความเป็นทีม” ซึ่ง “ทีมที่ดีจะทำให้เกิดงานที่ดี” ครับ

SORAKIT

  • ใครที่กำลังคิดจะสร้างบ้าน การบ้านหลักๆ ของOwner คือ การพยายามทำความเข้าใจตัวเองก่อนที่จะหาสถาปนิกว่าคุณต้องการอะไร ขาดอะไร หรือของเดิมมันมีอะไรที่มันยังไม่ใช่ คือไม่ถึงขั้นว่าต้องหาคำตอบให้ได้ 100%  แต่ควรพยายามทบทวนตัวเองให้ดีก่อน เพราะถ้าคำถามผิดแต่ต้น คำตอบก็จะผิดไปด้วย สถาปนิกเหมือนคนที่จะช่วยหาคำตอบแต่คุณต้องเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองให้ได้ก่อน ก่อนที่จะเริ่มมองหาและเลือกสถาปนิกแล้วก็จะได้รู้ว่าคนนี้จะสามารถมาช่วยตอบคำถามในชีวิตคุณได้จริงๆ หาสถาปนิกก็เหมือนหาคู่ครับ  ผมก็ไม่ได้บอกว่า IF เหมาะกับบ้านทุกหลัง IF อาจจะไม่เหมาะกับคุณก็ได้

  • ผมให้ความสำคัญกับ “พื้นที่ส่วนกลาง” ที่ทุกคนในบ้านจะมาเจอกัน  ซึ่งการจะทำให้ทุกคนในบ้านมาใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน เราต้องรู้ว่าอะไรเป็นความต้องการที่สมาชิกแต่ละคนอยากได้ร่วมกัน ก็จับเอาสิ่งนั้นมาสร้าง Space มันจะกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมาทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างมีความสุข...มันอาจจะเป็นแค่พื้นที่หนึ่งที่คนในบ้านจะมาใช้งานร่วมกัน แต่ความน่าสนใจคือจะทำยังไงให้เค้ามาใช้งานร่วมกันได้แบบสบายใจที่สุด

Favorite items

SB Design Furniture

Favorite Corners in SB Design Square

ชอบมุมนี้ เพราะโทนสีมันดูอบอุ่น มีความเป็นไม้ๆ นิดๆ คือผมชอบเก้าอี้ตัวนี้ครับ มันมีสีเทาของเบาะนิดๆ โผล่เข้ามา ข้างๆ มีโคมไฟ  ข้างหลังมีชั้นไม้ไว้วางของ โทนสีดูอบอุ่นเหมือนบ้านดีครับ

ชอบโทนสีของมุมนี้ครับ คือ ผมจะชอบอะไรที่มีความเป็นไม้ๆ แต่ว่าไม่ได้ไม้ทั้งหมด ในความไม้ก็จะมีความหนังเข้ามานิดๆ ส่วนตัวผมชอบโซฟาหนัง เพราะมันให้ความรู้สึกเข้มๆ เท่ๆ  และก็ชอบผิวสัมผัสของวัสดุไม้ เพราะมันเป็นของธรรมชาติ แล้วยิ่งพอมีหนังสีเข้มตัดเข้ามานิดนึง มันทำให้รู้สึกว่าไม่ดูเลี่ยนไปหมด

พบกับ Designer ทั้งหมด