ชนิดาภา มาประณีต

WEEK 4 : 22-28 ม.ค.
52 Weeks of Design

ABOUT HER

“พนักงาน คือ สินทรัพย์ที่มีคุณค่าที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้าไปตามเป้าหมาย และประสิทธิภาพ ของการทำงานก็น่าจะมาจาก “คนที่มีความพร้อม” การออกแบบตกแต่ง Workplace ให้ส่งผลที่ดีต่อสภาพความเป็นอยู่ของพนักงาน เพื่อให้เอื้อต่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่องค์กรควรต้องลงทุน”  สัปดาห์นี้พบกับ คุณเอ๋ย - ชนิดาภา มาประณีต ผู้ร่วมก่อตั้ง PAPERSPACE (Thailand) บริษัทที่เชี่ยวชาญในการออกแบบตกแต่งออฟฟิศโดยเฉพาะ และยังมีผลงานออกแบบออฟฟิศหลายแห่งให้กับองค์กรชั้นนำระดับโลกอย่าง Google และ Airbnb อีกด้วย 

และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ PAPERSPACE ยังเป็น Interior Design Startup สัญชาติไทยที่เป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมสมาชิกที่เป็นสตูดิโอออกแบบขนาดเล็กที่มีความสามารถในงานออกแบบด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร โชว์รูม บ้านพักอาศัย เป็นการเพิ่มสร้างศักยภาพในรองรับความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า โดยบริษัทฯ จะดูแลในการทำตลาด  บริหารจัดการโปรเจค และเป็นตัวเชื่อมระหว่างลูกค้าขนาดใหญ่กับสตูติโอออกแบบที่เป็นสมาชิก เพื่อช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเหล่าดีไซน์เนอร์รายย่อยหรือสตูดิโอขนาดเล็กให้มากยิ่งขึ้น  โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งอีกสองท่าน คือ คุณทรงกิต  ขอถาวรวงศ์ และ คุณสมบัติ งามเฉลิมศักดิ์ สถาปนิกผู้ที่มีประสบการณ์ด้านออกแบบตกแต่งออฟฟิศมายาวนานเกือบ 20 ปี  ซึ่งจับมือกับพาร์ทเนอร์ชาวต่างชาติ ก่อตั้ง PAPERSPACE ในอีก 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์และฟิลิปปินส์

ส่วนบทบาทของความเป็นนักออกแบบ คุณเอ๋ยเล่าให้ฟังว่า งานส่วนใหญ่คืองานออกแบบออฟฟิศ “ในมุมมองของเรา สถานที่ทำงานคือที่ที่เราใช้เวลาส่วนใหญ่ระหว่างวัน ดังนั้นพื้นที่นี้จึงส่งผลกับความเป็นอยู่และความรู้สึกของเรามากทีเดียว สิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นพิเศษในออกแบบสถานที่ทำงาน คือ เรื่องความสัมพันธ์ของคนกับพื้นที่ค่ะ แนวความคิดส่วนใหญ่ในการออกแบบคือ Activity Based Workplace หมายถึง สถานที่ทำงานซึ่งตอบสนองกิจกรรมของผู้ใช้มากกว่าการนั่งทำงานบนโต๊ะเพียงอย่างเดียว คือ การมีพื้นที่เพื่อตอบสนองกิจกรรมต่างๆ ทั้งการทำงาน ประชุม เรียนรู้  สังสรรค์และพักผ่อน  โดยอาจจะไม่มีโต๊ะทำงานประจำสำหรับทุกคน  ส่วนการประชุมก็อาจเกิดขึ้นได้ในหลายพื้นที่  ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องประชุมเสมอไปก็สามารถเกิดความคิดใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา  การออกแบบจึงควรมีพื้นที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองกิจกรรมของผู้ใช้ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ถ้าในองค์กรพบว่า อายุเฉลี่ยของพนักงานในบริษัทสูงขึ้นทุกๆ ปี แสดงว่าคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเติมมีน้อยลง ซึ่งการที่ค่าเฉลี่ยสูงขึ้นนั้น จะไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท  workplace transformation หรือการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานให้ทันกับยุคสมัย นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดพนักงานรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำงาน การจะดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาในองค์กร ภาพลักษณ์ต้องถูกใจ คือให้เข้ามาทำงานแล้วเกิดความภูมิใจว่าที่นี่คือที่ทำงานของเรา มีฟังก์ชันที่รองรับการใช้งานได้เป็นอย่างดี และมีผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพนักงาน  

“จริงๆ แล้วไม่ได้สื่อว่าทุกองค์กรจำเป็นต้องมาปรับเปลี่ยนออฟฟิศให้สวยเหมือนๆ กัน แต่อยากให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ที่สามารถสะท้อนความเป็นตัวเองและวิสัยทัศน์ขององค์กร รวมถึงมีลักษณะการใช้งานที่ออกแบบให้ตอบสนองต่อบุคลากรได้อย่างเหมาะสม”

 ในทางกายภาพ สิ่งที่บริษัทควรลงทุนเพื่อให้การทำงานของพนักงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือไม่ควรมองข้ามสิ่งเล็กๆ ที่มีความสำคัญอย่าง “เก้าอี้ทำงาน” เพราะว่าพนักงานต้องนั่งทำงานในแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง และสิ่งสำคัญมากกว่านั้นก็น่าจะเป็นเรื่องที่ผู้บริหารกับพนักงานต้องเห็นเป้าหมายเดียวกันแล้วพยายามทำให้องค์กรไปถึงจุดนั้นได้ ผู้บริหารก็ต้องรับฟังพนักงาน และพนักงานก็ต้องเข้าใจวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการจะนำพาองค์กรทั้งหมดไปให้ถึง ถ้าเกิดจุดไหนที่พนักงานบอกว่า จุดนี้เรายังไม่มี จุดนั้นออฟฟิศเรายังขาดอยู่ ถ้าผู้บริหารให้ความสำคัญก็น่าจะช่วยมาดูแลในส่วนนั้น เพื่อช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานค่ะ  

ALLY

  • ฟังก์ชั่นที่จะช่วยเสริมบรรยากาศในการทำงาน  ตอนนี้เทรนด์ที่เริ่มเข้ามาคือ พื้นที่ที่เรียกว่า Town Hall ที่สามารถจุทุกคนในบริษัทได้ จะยืนหรือนั่งก็ได้ เพราะปกติห้องประชุมขนาดใหญ่ในออฟฟิศ ก็จะจุคนได้ประมาณ 20-30 คน แต่ถ้าสมมุติทั้งบริษัทต้องการคุยกับพนักงานทุกคน มันก็ไม่มีที่พอไม่รู้ว่าต้องไปอยู่ตรงไหน...Town Hall จึงเข้ามาตอบโจทย์ และระหว่างที่ไม่ได้ใช้งาน พื้นที่ตรงนี้ก็อาจจะเปลี่ยนเป็น  Co- Working Space เป็น Pantryหรือเป็น Discussion Area ก็ได้ค่ะ

  • การทำ Co-Working Space ในออฟฟิศ คือการมีโต๊ะทำงานที่ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของ พนักงานคนไหนจะมานั่งก็ได้ นอกจากจะทำในรูปแบบของโต๊ะทำงานแล้ว ก็อาจจะเพิ่มทางเลือกเป็นโซฟาให้นั่งทำงานด้วยก็ได้ค่ะ เพื่อให้ความรู้สึกผ่อนคลายในการทำงานมากขึ้น ซึ่งก็เป็นฟังก์ชั่นที่ถูกใจคนรุ่นใหม่ เพราะช่วยให้เขารู้สึกว่า บรรยากาศมันดูสร้างสรรค์ขึ้นกว่าการนั่งอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิมๆ ทุกวัน และยังเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พูดคุยกันของพนักงานที่ไม่ได้อยู่แผนกเดียวกัน เป็น Collaboration Space ที่สร้างให้เกิดไอเดียใหม่ๆ   

  • ฟังก์ชันที่คนรุ่นเก่าอาจไม่คุ้นเคย มักเป็นเรื่องของการลดพื้นที่ส่วนตัว เพื่อเพิ่มพื้นที่ส่วนรวมบางคนอาจเคยมีห้องปิดก็กลายเป็นต้องนั่งทำงานในพื้นที่เปิดร่วมกับทุกคน ซึ่งเราก็จะแก้ไขด้วยการมีห้องประชุมอยู่ใกล้ๆ คือพนักงานจะนั่งทำงานที่โต๊ะเป็นปกติก็ได้ แต่ถ้าต้องการคุยอะไรที่เป็นความลับก็สามารถเข้าไปใช้ในห้องประชุมได้

Favorite items

SB Design Furniture

Living Inspiration @ SB Design Square

มุมนี้น่าสนใจตรงที่ขนาดไม่ใหญ่มากแต่มีครบฟังก์ชั่น ทั้งนั่งเล่น ทานอาหาร และทำงาน แล้วก็มีที่เก็บของด้วยไอเดียจากมุมนี้จะเป็นเรื่องของการมิกซ์แอนด์แมตช์ค่ะ ทั้งเรื่องวัสดุและรูปทรง คือ มีทั้งเหล็กสีดำ ไม้สีเข้ม โซฟาหนัง ซึ่งมีสีไปในโทนเดียวกัน และเพื่อไม่ให้น่าเบื่อ เราสามารถหยอด  Accent สีเข้าไปที่ของตกแต่ง อย่างหมอนอิงซึ่งเป็นอะไรที่เปลี่ยนได้ง่ายและบ่อย ส่วนของที่จะอยู่ถาวรอย่างโซฟา โต๊ะ เก้าอี้ เราก็ใช้เป็นสี Neutral ไปค่ะ

มุมนี้เป็นมุมครัวที่บ้านหรือแพนทรีที่ออฟฟิศก็ได้ค่ะ เป็นสไตล์ที่เข้าได้กับหลายๆ อย่าง ทั้งลอฟท์และโมเดิร์นที่สำคัญคือมีฟังก์ชั่นครบเลย ที่เก็บของ  โชว์ของ  ที่เตรียมอาหาร และเคาน์เตอร์เสิร์ฟอาหาร คือ ถ้าไปอยู่ในออฟฟิศ จุดนี้จะช่วยสร้างสีสันให้พื้นที่ดูน่าสนใจได้ค่ะ เพราะบริเวณอื่นในออฟฟิศอาจดูเรียบๆ แต่มาสนุกตรงนี้ ในส่วนที่เป็นพื้นที่พักเบรกค่ะ

พบกับ Designer ทั้งหมด