ธฤต ทศไนยธาดา

WEEK 12 : 19-25 มี.ค.
52 Weeks of Design

ABOUT HIM

“ทุกวันนี้เวลาทำงานออกแบบ ในทีมเราจะไม่พูดกันเรื่องสวยหรือไม่สวยแล้วครับ เพราะมันเป็น A Must อยู่แล้ว แต่เราจะคุยกันว่างานนี้จะดียังไง? เจ๋งยังไง? ตอบโจทย์อะไรในโปรเจคนี้? และจะด้วยวิธีไหน? รวมทั้งจะมีไอเดียอะไรที่เราอยากสื่อสารผ่านผลงานนี้บ้าง”  ไปพูดคุยต่อเกี่ยวกับมุมมองด้านดีไซน์ เพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้นกับ คุณธฤต ทศไนยธาดา Design Director และเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ของบริษัท Design In Motion

งานหลักๆ ของ Design In Motion จะเป็นประเภทบ้าน โรงแรม และรีสอร์ทครับ แต่จริงๆ เราก็ไม่ได้จำกัดตัวเองว่าต้องรับแค่งานประเภทใดประเภทหนึ่ง เพราะเราไม่ได้ชอบงานอะไรเป็นพิเศษ แต่เราอยากทำงานที่หลากหลาย อยากทำงานสนุกๆ  โดยทุกโปรเจคจะมีกระบวนการคิดเริ่มต้นที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเราก็ต้องมานั่งคิดกันใหม่ทุกโปรเจ็คว่า “เราอยากสื่อสารอะไร”

ตัวอย่างเช่น The Spa Resortsที่เกาะสมุย ที่ตัวโครงการอยู่บนเขาในป่าฝนเขตร้อน เราก็ไปศึกษาหาข้อมูลเลยว่า คาแรคเตอร์ของป่าฝนเขตร้อนเป็นยังไง Layer ของต้นไม้มันขึ้นมายังไง ก็พบว่าน่าสนใจมากและแมตช์กับสถาปัตยกรรมที่เราจะทำด้วย  คือเราสามารถแทรกตัวสถาปัตยกรรมเข้าไปใน Layer ของต้นไม้ต่างๆ ได้หมดเลย หรืออย่างโปรเจค โรงเรียนแสงตะวันพัฒนา จ.เลย ที่มีคอนเซ็ปต์ดีไซน์มาจากเรื่อง “แสง” พอเราได้โจทย์ เราก็ไปศึกษาหาข้อมูลกันเลยว่า ไอเดียอะไรที่จะเข้ากับโรงเรียนนี้ และสามารถตอบโจทย์ฟังก์ชั่นของโรงเรียนและห้องเรียนได้ด้วย ซึ่งก็ไปค้นพบว่า “แสงธรรมชาติ” กับห้องเรียนเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับการเรียนรู้ของเด็กๆ  มีงานวิจัยบอกว่า ห้องเรียนควรได้แสงธรรมชาติเท่าไหร่ แสงในแต่ละส่วนของห้องเรียนสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตทางสติปัญญาของเด็กอย่างไร เราจึงนำเรื่อง “แสง” มาใช้ใช้งานดีไซน์ทั้งหมดเลยว่า แต่ละส่วนต้องเอาแสงเข้ามาในห้องเรียนกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง “แสง” จะเป็นตัวบอกเองว่าตัว ดีไซน์ของสถาปัตยกรรมควรมีหน้าตาอย่างไร แล้วเราค่อยมาคิดรูปทรงของห้องเรียนและวัสดุที่จะใช้ครับ

ในงานออกแบบของเรา เรื่องของ “วัสดุ” จะเป็นเรื่องที่มาทีหลัง เพราะอันดับแรกคือ เราจะสร้างพื้นที่ให้เขาก่อน สร้างไอเดียก่อนว่าพื้นที่ตรงนี้จะเกิดอะไรขึ้น จะมีกิจกรรมแบบไหน  ดียังไง  เสร็จแล้วค่อยมาดูว่าวิธีการที่จะทำให้ Core Idea นี้เป็นรูปธรรมขึ้นมาคืออะไร  ซึ่งมันจะตอบเองว่าวัสดุอะไรที่เหมาะสมกับโปรเจคนั้นๆ  ซึ่งที่ Design In Motion เราจึงไม่ได้สนใจวัสดุอะไรเป็นพิเศษ เวลาทำงานเราจะคิดว่าวัสดุนี้มันเหมาะหรือตอบวัตถุประสงค์ของงานนี้หรือเปล่า ซึ่งก่อนที่จะถึงบทสรุปว่าต้องใช้วัสดุนี้ สีนี้...จริงๆ เราลองมา 20 กว่าแบบแล้ว ว่ามันจะสามารถเป็นวัสดุอะไรได้บ้าง แล้วจึงเลือกนำเสนอสิ่งที่คิดว่าเหมาะที่สุดกับงานนั้นๆ   ซึ่งในทุกโปรเจ็ค เราจะเน้นใช้วัสดุที่หาไม่ยากในประเทศไทย ไม่ได้ต้องนำเข้า ยิ่งเป็นงานต่างจังหวัดช่างท้องถิ่นต้องทำได้ เป็นวัสดุก่อสร้างทั่วไป อย่าง อิฐ หิน ดิน ปูน คอนกรีต อะลูมิเนียม ลูกค้าไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงกว่าปกติ  แต่เราเลือกที่จะใช้วิธีใหม่ๆ ในการทำให้วัสดุเดิมๆ ออกมาในดีไซน์ใหม่หรือรูปแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์กับโปรเจ็คนั้นๆ

ส่วนงานที่พักอาศัย ผมมองว่า “บ้าน” เป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของลูกค้าแต่ละคน และไม่จำเป็นว่าห้องนั่งเล่นจะต้องมีโซฟากับอาร์มแชร์ก็ได้ มันอยู่ที่โจทย์ของแต่ละคน เพราะสถาปัตยกรรมมันสะท้อนคนที่เข้ามาใช้งาน ลูกค้าบางคนอาจจะอยากได้ห้องกินข้าวอยู่หน้าบ้านหรือเอาห้องนั่งเล่นไปอยู่หลังบ้านก็ได้ มันไม่จำเป็นที่ฟังก์ชั่นต้องเรียงตัวตามรูปแบบ ลูกค้าบางคนอยากได้ห้องนั่งเล่นอยู่ชั้นสอง ชั้นล่างเป็นชานเฉยๆ ไว้ให้ลมพัดผ่าน คือ  มันมาจากของที่เราใช้งาน ฉะนั้น สำหรับผมมันไม่มีผิดมีถูกว่าการใช้ชีวิตจะเป็นยังไง คือเราชอบยังไง เราก็ใช้ชีวิตอย่างนั้น ออกแบบบ้านเราแบบนั้น และเวลาออกแบบบ้าน เราจะคุยกันในทีมเสมอว่ามันเหมือนกับเรากำลัง “ทำฉากให้ชีวิต” ของลูกค้า  เราต้องปล่อยพื้นที่บางส่วนเพื่อให้เขา “เอาชีวิตเข้ามาเติมเต็ม” ให้เขาได้จัดพื้นที่ของเขาในแบบที่เขาเป็น ไม่ใช่บังคับเขาให้ใช้ชีวิตอยู่ในสถาปัตยกรรมที่เราออกแบบ สมมุติลูกค้าอยู่ในบ้าน แล้วเขาไปซื้อแจกันซื้อหนังสือมาแล้วอยากจะวางบนชั้นที่เราออกแบบไว้ นั่นก็คือเขาได้จัดพื้นที่ของเขาในแบบที่เขาเป็น ด้วยการเอาชีวิตของเขามาเติมในบ้านของเขา

อีกเรื่องที่มักจะคุยกับน้องๆ ในทีมเสมอคือ “เราควรใช้เงินของลูกค้าเหมือนเงินตัวเอง” คือเวลาทำงานเราต้องคิดว่า สมมุติเป็นเงินตัวเองคุณจะทำไหมอันนี้ ต้องคิดเสมอว่าถ้าเรามีเงินหรือมันเป็นบ้านของเรา แล้วสิ่งที่ออกแบบมา มันทำให้ต้องดูแลรักษามากอย่างนี้  “ถ้าเรายังลังเลว่า หากเป็นบ้านเรา  เราจะไม่ทำ เราก็ไม่ควรนำเสนอลูกค้า” ดังนั้นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งของสถาปนิก คือ เราต้องเสนอสิ่งที่เราคิดว่ามันดีที่สุดกับการใช้ชีวิตของลูกค้าครับ

THARIT

  • สำหรับคนที่กำลังจะสร้างบ้าน สำคัญที่คือคุณควรต้องมานั่งทบทวนก่อนเลยว่า คุณอยากใช้ชีวิตแบบไหน  อยากใช้ฟังก์ชันยังไง อยากยืน-เดิน-นั่ง ชอบอะไร?  แล้วตัวฟังก์ชันมันจะมาจากความชอบใช้งานเลย เพราะ “บ้าน” ไม่จำเป็นต้องมีห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว ห้องนอนตามรูปแบบ คือทั้งหมดนี้มันอาจรวมเป็นห้องเดียวกันก็ได้  ถ้าคุณชอบ! บางทีเราไปเห็นบ้านในสื่อต่างๆ แล้วเห็นว่าเขามีห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว แพนทรี แต่ในความเป็นจริง  บ้านบางหลังอาจจะมีแต่แพนทรี แล้วก็นั่งทานข้าวตรงแพนทรีโดยไม่ต้องมีโต๊ะกินข้าวก็ได้ ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องมานั่งคิดว่า จะต้องมีห้องกินข้าวสวยขนาดไหน? แต่ควรสนใจว่า เราใช้ชีวิตยังไงมากกว่า!

  • ทำห้องเล็กให้อยู่สบาย  แนะนำให้เปิดพื้นที่เพื่อยืม Space ของห้องต่างๆ มาใช้ร่วมกัน เช่น ห้องนอนชั้น 2 เปิดประตูบานเลื่อนไปยืมพื้นที่ของห้องนั่งเล่นที่ชั้น1 ทำให้พื้นที่กลายเป็น Duplex เล็กๆ หรือพื้นที่ชั้น 3 ตรงส่วนกลางเป็นระเบียงโปร่ง เปิดหน้าต่างเข้าหากันได้กลายเป็นว่า  ถ้าเราอยู่ชั้น 3 พอเปิดหน้าต่างมาปุ๊บก็เชื่อมกับพื้นที่ส่วนกลางชั้น 2 คือ ให้ทุกห้องเชื่อมกัน  มองเห็นกันได้  เหมือนยืม  Space  ซึ่งกันและกัน   แม้เราจะอยู่ในห้องเล็กๆ พอเปิดหน้าต่างออกไปเชื่อมพื้นที่กัน มันก็จะให้ความรู้สึกว่า “ไม่เล็ก” แล้ว

  • ไอส์แลนด์หินอ่อน มีลูกค้าหลายคนอยากได้ไปไว้ในครัว เพราะไปเห็นในนิตยสารเมืองนอกแล้วรู้สึกว่าสวยดี แต่ความเป็นจริงคือ พอมันเป็นหินอ่อน มันจะดูแลรักษาค่อนข้างยากนิดนึง คือบ้านเราไม่ได้ทำแพนเค้ก แต่เราทำผัดกระเพรา ดังนั้นทุกบ้านเลยที่มีไอส์แลนด์ จะต้องมีครัวไทย และมีไอส์แลนด์ไว้เป็นของโชว์และเอาไว้ใช้นั่งทานข้าวกุ๊กกิ๊ก พอจะผัดกระเพราต้องไปทำในครัวไทย เพราะ “หินอ่อน” ถ้ากับข้าวหกเลอะเทอะต้องรีบเช็ด หรือแค่ตั้งแก้วน้ำทิ้งไว้ค้างคืนก็เป็นรอยแล้ว สำหรับใครที่อยากได้...ผมบอกไว้ก่อนเลยว่า มันเป็นวัสดุที่ดูแลรักษายากนะ และต้องค่อนข้างดูแลรักษาเยอะ แต่ถ้าคุณอยากได้และรับได้ก็โอเค

Favorite items

SB Design Furniture

Living Inspiration @ SB Design Square

ผมชอบมุมนี้ เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านหนังสือครับ บ้านที่มีหนังสือรู้สึกว่ามีเสน่ห์  ชั้นวางของแบบนี้ ต่อให้ไม่ได้วางหนังสือก็ใช้วางของกระจุกกระจิกที่ทำให้บ้านมีชีวิตชีวา ปกติเวลาทำชั้นเก็บของ...เราจะเว้นที่ให้ลูกค้าได้เอาของที่เขาอยากจะวาง อยากจะโชว์มาใส่ไว้ ดังนั้น ชั้นหนังสือหรือชั้นวางของจึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะสะท้อนไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละคน จึงเป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่น่าจะมีอยู่ในบ้าน เพราะนอกจากจะใช้โชว์ของแล้ว ก็ยังช่วยให้บ้านดูเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วย  มันจะคนละฟังก์ชั่นกับชั้นแบบหน้าบานปิดที่เราจะใช้เก็บของที่ไม่อยากให้คนอื่นเห็น แต่ชั้นโล่งแบบนี้ ต่อให้ไม่มีคนอื่นเห็นแต่เราเดินมาเห็นของที่เราชอบได้ทุกวัน มันก็มีความสุข  แล้วเห็นของที่เราชอบ เรารู้สึกว่าอันนี้คือชีวิตของเรา เป็นของที่เราเก็บสะสมมาทั้งชีวิต ของที่เราชอบ คือเดินไปเดินมาเห็นของเหล่านี้ทุกวันก็มีความสุข”

ส่วนมุมนี้ ด้วยความที่เป็น “โซฟาเข้ามุม” ข้อดีอย่างหนึ่ง คือ ประหยัดพื้นที่ แล้วก็ใช้งานได้หลายลักษณะ ซึ่งพอมีโต๊ะกลางเป็นทรงกลมประมาณนี้ สมมุติมีเพื่อนมาปาร์ตี้เยอะ เราอาจจะใช้เป็นฟังก์ชั่นนั่งพื้นบ้าง นั่งโซฟาบ้าง คือมันสามารถใช้งานได้ค่อนข้างยืดหยุ่น   

พบกับ Designer ทั้งหมด