ศันสนีย์ ประดิษฐ์กุล

WEEK 16 : 16-22 เม.ย.
52 Weeks of Design

ABOUT HER

“ในงานออกแบบ จะมีทั้งเรื่องฟังก์ชั่น ความสวยงาม ความรู้สึก และงบประมาณการก่อสร้าง  ถ้าเราหาจุดที่ พอดี ของทุกองค์ประกอบไม่ได้ งานก็ไม่เกิด ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามทำคือ การใช้ ดีไซน์ เข้ามาหาจุดลงตัวให้กับปัจจัยต่างๆ ในแต่ละงาน” ...นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ  PODesign (พอดีไซน์) บริษัทออกแบบที่มุ่งสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม โดยมีปรัชญาการทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่ง “ความพอดี”

PODesign ก่อตั้งโดย คุณบรรจง เกียรติสิงห์นคร และ คุณศันสนีย์ ประดิษฐ์กุล ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานออกแบบในต่างประเทศมาเกือบ 20 ปี “ที่ผ่านมาเราเคยทำงานสเกลค่อนข้างใหญ่ประมาณ 2 แสนตารางเมตร ซึ่งจะเป็นโปรเจคประเภท Mixed-use และ Retail ค่ะ พอย้ายกลับมาก็ได้มีโอกาสทำงานสเกลที่เล็กลงและในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งบ้าน คอนโด งานโครงการ และออฟฟิศ เช่น Urban Reserve (โครงการบ้านเดี่ยวระดับลักซ์ชัวรี่ ขนาด 17 ยูนิต), The Honor (โครงการบ้านเดี่ยว 3 ชั้น สไตล์โมเดิร์นสุดหรู ขนาด 12 ยูนิต) ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภท Architecture Single Residence จาก Asia Pacific Property Awards 2018-2019, ATMOZ Ladprao 71 Condo โครงการคอนโด Low Rise ของ Asset Wise ได้รับรางวัล BCI Asia Top 10 Developers Awards 2019

“ส่วนตัวชอบงานขนาดเล็กนะคะ เพราะเราได้ลงรายละเอียดในงานมากขึ้น ลงไปถึง Space จริงๆ โดยเฉพาะโปรเจคบ้านเดี่ยว จะมีความสุขที่สุดตอนได้เห็นเจ้าของบ้านเดินเข้าไป แล้วรู้สึกว่า โห! ได้อย่างที่ฝันเลย...รู้สึกว่าอันนี้คือสิ่งที่ตอบโจทย์เรา”

“ในงานออกแบบ เราจะใช้มุมมองหรือคอนเซ็ปต์จากทั้งตะวันตกและตะวันออกมาผสานกัน เพื่อให้ได้งานที่น่าสนใจค่ะ เช่น อาจจะนำ Space ของบ้านเรือนไทยที่มีการยกระดับมีใต้ถุน (เพื่อการไหลเวียนของลม) เข้าไปใส่ในงานลักษณะโมเดิร์น เป็นต้น  และจากที่เรามีโอกาสทำงานออกแบบอาคารหลากหลายลักษณะ  บางทีเราก็นำมุมมองที่แตกต่างมาใช้ด้วยกัน เช่น มุมมองจากงาน Commercial มาใส่ในงานบ้าน  เอาความเป็นบ้านไปใส่ในคอนโด  คือ เรามองว่ามันน่าจะดีกว่าถ้าเราได้มุมมองอื่นๆ เข้ามาร่วม ซึ่งก็จะทำให้งานได้สิ่งที่แปลกใหม่ขึ้นมาค่ะ”

ประเด็นหลักของการ “ออกแบบบ้าน” คือ “ไม่ใช่แค่การออกแบบตัวอาคาร”  แต่เราต้องออกแบบ Space เพื่อสร้าง “ความสัมพันธ์ที่ดี”   พื้นที่ไหนที่เขามาใช้ร่วมกัน เราก็ต้องเน้นที่จุดนั้น เพราะมันคือ “หัวใจของบ้าน”  เพราะสิ่งสำคัญของที่อยู่อาศัยคือเรื่องความสัมพันธ์   ถ้าบ้านนั้นคุณอยู่คนเดียว คุณก็สามารถทำพื้นที่สำหรับสิ่งที่คุณชอบ เช่น ชอบอ่านหนังสือหรือดูทีวีในห้องนอน ชอบห้องแต่งตัวใหญ่ๆชอบใช้ชีวิตอยู่ในห้องนอน  ก็เน้นทำเฉพาะฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์คุณคนเดียวได้ แต่ถ้าบ้านที่ “เป็นครอบครัว” มันจะต้องมี “จุดศูนย์รวม”...บางบ้านคุณแม่ชอบทำกับข้าว ก็อาจทำเป็นครัวเปิด  มีไอส์แลนด์ให้เด็กๆ นั่งทำการบ้านใกล้ๆ  มีห้องรับแขกอยู่ใกล้ๆ ให้สามารถคุยกับสมาชิกคนอื่นๆ ได้  คือ เราอยากสร้างบ้านให้มี Flow of Space หรือเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกันแบบนี้  แม้ทุกคนในบ้านจะอยู่ในพื้นที่คนละส่วนแต่ยังมองเห็นกัน  คุยกันได้ เราไม่อยากให้แต่ละห้องอยู่แยกกันอย่างชัดเจน  จึงพยายามออกแบบแต่ละพื้นที่มีความเชื่อมกันทั้งแนวตั้งและแนวนอน  ทั้งทาง Visual และ Function

บ้านเดี๋ยวนี้จะเป็นที่อยู่ของคน 3 รุ่น เราก็จะพยายามออกแบบพื้นที่เพื่อให้สมาชิกในบ้านได้มาใช้ชีวิตด้วยกัน เช่น อาจจะทำเป็นห้องพักผ่อนอยู่หน้าห้องนอนใหญ่  ที่เด็กๆ อาจจะมาเล่นดนตรี วาดรูป  หรือคุณพ่อคุณแม่มาอ่านนิทานหรือมานั่งคุยกับคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย เพื่อให้ตรงนี้เป็น “พื้นที่ของความทรงจำ”  เป็น Quality Time ของครอบครัว เมื่อเด็กๆ โตขึ้น เขาจะจำพื้นที่ตรงนี้ ความรู้สึกตรงนี้ ที่เขาได้คลุกคลีกับสมาชิกในครอบครัว

นอกจากนี้ ก็จะให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่ให้มีความยืดหยุ่นสำหรับอนาคตด้วย เช่นอาจจะมีพื้นที่ไว้เผื่อปรับเป็นห้องนอนที่ข้างล่างไหม  วางแผนติดลิฟท์หรือเปล่า หน้าห้องนอนผู้สูงอายุอาจมีห้องนั่งเล่นให้เด็กๆ มานั่งเล่น ผู้สูงอายุจะได้ใกล้ชิดหลานๆ เพื่อไม่ให้แต่ละโซนโดดเดี่ยวกันเกินไป  ซึ่งคนที่มาให้เราออกแบบบ้าน  บางคนเขาก็จะนึกถึงอนาคตว่า  ถ้าแก่แล้วจะไปอยู่ห้องไหน หรือว่าถ้าบ้านที่มีลูกเล็กก็จะคิดว่า ถ้าลูกโตเขาจะใช้ชีวิตอยู่ยังไง ซึ่งสถาปนิกต้องช่วยเจ้าของบ้านคิดและหาทางออกในประเด็นเหล่านี้ด้วยค่ะ

“งานออกแบบ...มันเหมือนกับเรากำลังปั้นอะไรสักอย่างในอากาศ คือพอเรามี Space ก็จะหลับตานึกภาพออกมา อินเหมือนเราเป็นเจ้าของบ้าน  นึกแทนเขาเลยว่าด้วยไลฟ์สไตล์แบบเขา เข้าบ้านมาแล้วเขาอยากเห็นอะไร จอดรถแล้วจะวางกุญแจไว้ตรงไหน  เดินต่อไปเจออะไร  แล้วสุดท้ายเมื่อภาพนั้นกลายเป็นจริงเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ออกมาเป็นอย่างที่เราฝันไว้และอย่างที่ลูกค้าฝันไว้ด้วย นี่คือความสุขที่สุดของการทำงานเลยค่ะ”

SANSANEE

  • ออกแบบพื้นที่เล็กให้อยู่สบาย เรื่องสำคัญคือต้องเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน สามารถปรับเปลี่ยนหรือพับเก็บได้  และการสร้าง “ความต่อเนื่องของพื้นที่” เพราะหากเราไปปิดกั้นมากเกินไป จะยิ่งทำให้ดูเล็กและอึดอัด แต่ถ้าสามารถทำให้พื้นที่ดูลื่นไหลต่อเนื่องกันไป โดยใช้กระจกใส และพยายามให้แสงธรรมชาติเข้ามาได้เยอะที่สุดจะทำให้ห้องน่าอยู่ขึ้น

  • อยู่ทาวน์โฮมแต่ได้อารมณ์เหมือนบ้านเดี่ยว สิ่งสำคัญคือเรื่องของ “ช่องเปิด” เพราะทาวน์โฮมโดยมากจะมีผนังทึบสองด้าน พื้นที่แน่น ช่องเปิดน้อย ถ้าทำเป็นห้องนอน 2 ห้อง ห้องน้ำตรงกลางก็มืดแล้ว ซึ่งความรู้สึกที่แตกต่างระหว่างทาวน์โฮมกับบ้านเดี่ยวคือเรื่องแสงธรรมชาติ  ดังนั้นเราอาจจะเจาะช่อง, เปิดเป็น Court, ทำหลังคา Skylight หรืออะไรที่สร้างพื้นที่ตรงนั้นให้ดูมีแสงธรรมชาติเพิ่มเติมได้ จะช่วยลดความรู้สึกอึดอัดของทาวน์โฮมให้น้อยลงได้

  • สร้างความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างภายในและภายนอก (Inside-out & Outside-in) ด้วยการใส่พื้นที่สีเขียวไว้ใน Space คือเวลาเรานั่งอยู่ในบ้าน  จะทำให้เรายังรับรู้ได้ถึงต้นไม้ข้างนอก มีลมพัด มีความเขียวที่ไหวไปมา มันจะทำให้บรรยากาศบ้านดูมีชีวิตชีวา และเราก็ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอยู่ในห้อง

  • มีความเป็นส่วนตัว แต่ต้องรู้สึกถึง “ความเป็นครอบครัว” คือ เวลาที่เราอยู่บ้านเราก็อยากมีความเป็นส่วนตัว แต่ควรต้องได้รับรู้ว่ายังมีอีกคนหนึ่งอยู่ด้วย  มันเป็นความรู้สึกเชื่อมโยงในแง่ของความสัมพันธ์  มากกว่าที่จะเข้าไปอยู่ในห้องปิดค่ะ โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กๆ... “ห้องเด็ก” ไม่ควรมีทีวีและคอมพิวเตอร์  เพราะถ้ามีครบ เด็กๆ ก็จะเข้าไปอยู่แต่ในห้องของตัวเองไม่ค่อยออกมาเจอหน้าคนอื่น  อาจจะมีทีวีสัก 2 จุด คือบริเวณห้องนั่งเล่นชั้นล่างและชั้นบน  เพื่อให้เป็นจุดรวมของสมาชิกในครอบครัว  

Favorite items

SB Design Furniture

Living Inspiration @ SB Design Square

มุมนี้เพราะให้ความรู้สึกที่ดูนิ่งดีค่ะ  มีการใช้สีกลางๆ  แล้วใส่  Accent เป็นสเตนเลสเงาๆ ให้ดูมีลูกเล่นขึ้น  ซึ่งถ้าอยากเปลี่ยนบรรยากาศ  เราก็สามารถเปลี่ยน Accent ตรงนี้ได้ คือเฟอร์นิเจอร์ในห้องนั่งเล่นจะแนะนำให้ใช้เป็นโทนสีเรียบๆ คลีนๆ จะได้ไม่เบื่อง่ายค่ะ  ส่วนของตกแต่งก็ใช้แบบที่มีสีสันหรือมีลวดลาย จะได้ดูสดใสขึ้น

มุมนี้เหมือนเป็นพื้นที่เล็กๆ มีความ Cozy  ดูเป็นห้องนั่งเล่นของครอบครัว  ซึ่งสะท้อนถึงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เล็กๆ ค่ะ  คือถ้าในบ้านเราพอจะมีมุมเล็กๆ ที่ไม่ค่อยได้ใช้สอย ก็อาจจะมาปรับเปลี่ยนเป็นส่วน Living แบบนี้ก็ได้  ส่วนเฟอร์นิเจอร์ก็มีสีเรียบๆ ลวดลายกราฟฟิคหน่อย พอมาผสมกับไม้ก็จะทำให้ดูอบอุ่นขึ้นค่ะ    

พบกับ Designer ทั้งหมด