ไพทยา บัญชากิติคุณ

WEEK 19 : 7-13 พ.ค.
52 Weeks of Design

ABOUT HIM

               “ในการออกแบบคอนโด เรื่องของ Customer Centricity เป็นสิ่งที่เราพูดคุยกันตลอดในช่วงของการพัฒนาดีไซน์ คือ เราสนใจว่าผู้อยู่อาศัยโครงการนี้เขาจะชอบอะไร? มีไลฟ์สไตล์แบบไหน? ความยากคือ เราจะทำยังไงให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิตในไลฟ์สไตล์ของเขาให้ลงตัวกับพื้นที่ขนาดจำกัด ฉะนั้นอะไรก็ตามที่เราทำทั้งหมด ก็เพื่อให้ End User ได้สิ่งที่ดีที่สุด บนพื้นฐานของข้อจำกัดต่าง ๆ แม้คนที่จ้างเราจะเป็น Developer แต่สุดท้าย เขาก็ต้องส่งมอบงานทั้งหมดไปให้ผู้ซื้อหรือผู้อยู่อาศัยจริง ๆ อยู่ดี” ...ไปพบกับอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการออกแบบคอนโดกับ คุณปอย-ไพทยา บัญชากิติคุณ Managing Director & Partner จาก ATOM Design บริษัทออกแบบชั้นนำที่เรียกได้ว่าเป็น Specialist ด้านการออกแบบคอนโดอันดับต้นๆ ของเมืองไทย

               ผลงานออกแบบที่โดดเด่นของ ATOM Design มีทั้งโครงการคอนโดและที่พักอาศัยต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ IDEO Q Sukhumvit 36 / Chidlom / Victory / Ratchadhevi, Life Asoke Rama 9, Knightsbridge, Park Origin, The Rich Srinakarin, Chewathai Thonglor 20, FYNN Asoke, ELIO Delray, Heart Sukhumvit 62 and 36, Arden Rama 3, ARTALE เป็นต้น

               คนอาจจะจดจำงานเราได้จากรูปลักษณ์ตัวอาคาร ในเรื่องของความเป็น Iconic ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราพยายามช่วยพัฒนากับทาง Owner เพื่อให้โครงการของเขามีเอกลักษณ์ที่เป็นจุดขาย แต่เบื้องหลังของงานออกแบบเชิงพาณิชย์นั้น ทั้งหมดต้องตอบโจทย์ในหลายเรื่อง...อันดับแรก คือ ต้องตอบโจทย์ Commercial ของเจ้าของโครงการก่อนว่า พื้นที่ขายต้องอยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่เขาวางไว้ งบประมาณ พื้นที่สีเขียวและข้อกำหนดต่าง ๆ อันนี้ถือเป็นพื้นฐาน ถัดมาจะเป็นเรื่อง Area Management ว่าเราจะสามารถปันพื้นที่ให้เป็นส่วนกลางได้มากสุดแค่ไหน...คือสมัยก่อนคอนโดจะมีลักษณะ “ขนาดห้องใหญ่แต่ส่วนกลางเล็ก” แล้วพอพัฒนามาถึงจุดหนึ่งห้องก็เล็กลง ดังนั้น “ส่วนกลาง” จึงต้องตอบโจทย์พื้นฐานการใช้ชีวิตให้มากขึ้น เช่น โครงการ IDEO Q จุฬา-สามย่าน ขนาด 1,500 ยูนิต กลุ่มเป้าหมายจะเป็นช่วงมหาวิทยาลัยไปถึงวัยทำงานตอนต้น นับเป็นโครงการแรกๆ เลยที่เราขยายพื้นที่ส่วนกลางให้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งผลตอบรับในแง่การซื้อก็ค่อนข้างดีมาก และหลังจากตึกเปิดใช้งานได้ 3 ปี เราก็กลับไปเก็บข้อมูลว่า พื้นที่ส่วนกลางที่เราออกแบบไว้ถูกใช้ประโยชน์เต็มที่แค่ไหน ปรากฏว่ามันเกินคำว่า Fully Utilized ยิ่งช่วงใกล้สอบ จะมีนิสิตและนักเรียนมาใช้กันเต็มพื้นที่เลย สระว่ายน้ำก็ใช้กันอย่างหนาแน่น เรื่องการให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางนับเป็น Signature อย่างหนึ่งของ ATOM Design เนื่องจากว่าเรามีโอกาสได้ทำงานกับนักพัฒนาอสังหาฯดีๆ ตั้งใจทำของดีเยอะด้วย พอเราทำสิ่งที่ทำให้เขาสามารถตอบโจทย์ End User ได้ ทุกคนก็แฮปปี้หมด ทั้งคนซื้อ เจ้าของโครงการ และทีมออกแบบ”

               “ในส่วนของห้องพักอาศัยเราก็คิดกันอย่างละเอียด คือ ตั้งแต่เริ่มทำงานเราจะพัฒนาตัวตึกไปพร้อมๆ กับ Unit Layout ว่า Dimension ที่เราเตรียมให้ในเชิงของตัวอาคาร, ห้องพัก, ขนาดเตียง, ห้องน้ำ เพียงพอไหม แม้บางโครงการที่ใหญ่เป็นแสนตารางเมตร เราก็พัฒนาดีไซน์และลงรายละเอียดกันเป็นหลักเซนติเมตรเช่นกัน เพื่อให้มั่นใจว่า ขนาดและระยะของพื้นที่ต่างๆ มีความแม่นยำและเหมาะสมต่อการใช้งานของผู้อยู่อาศัย”

               จุดแข็งของ ATOM Design ที่นักพัฒนาอสังหาฯ ทำงานด้วยแล้วแฮปปี้ น่าจะเป็นเรื่องที่เราพยายามตอบโจทย์โครงการให้ครบทุกด้านและเรามีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนแบบค่อนข้างมากเพื่อให้ได้ product ที่ดีที่สุดทั้งสำหรับผู้อยู่อาศัย ความ practical ที่เหมาะสมในการก่อสร้างและให้ผลลัพธ์ที่ดีในเรื่องธุรกิจของนักพัฒนาด้วย “เราจะรีดตัวเลขพื้นที่ขายและพื้นที่ส่วนกลางให้ทุกตารางนิ้วเลย” รีดกันแบบละเอียดมาก คือ เวลาเราทำคอนโดมิเนียม จะมีคำว่า Efficiency ก็คือสัดส่วนพื้นที่ขายต่อพื้นที่ก่อสร้างเพราะพื้นที่ FAR (Floor Area Ratio หมายถึง อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) มีจำกัด สมมุติ FAR มีให้ได้ 10,000 ตร.ม. ก็สร้างได้แค่นั้น ฉะนั้นเวลาดีไซน์เราก็ต้องไปรีดไขมันส่วนเกินออกให้หมด บางทีตัด 5-10 ซม. เราก็ตัดเพื่อดึงพื้นที่ใช้สอยกลับมาเป็นพื้นที่ส่วนกลางหรือเป็นพื้นที่ขายให้ได้มากที่สุด ขนาดเรื่องที่จอดรถที่ดูไม่น่าจะมีอะไร เราก็ดูกันละเอียดมากๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ในพื้นที่ก่อสร้างเท่ากันเราอาจจะได้พื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์หรือเป็นฟังก์ชั่นได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับโครงการอื่น

               คุณปอยเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานออกแบบ อันนำมาสู่ผลลัพธ์หรือแนวทางการออกแบบคอนโดในวันนี้ให้เราฟังว่า “เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ถ้าถามคนซื้อคอนโดว่า ปัจจัยในการเลือกซื้อ 3 ข้อคืออะไร เราจะได้คำตอบว่า Location! Location! และ Location ! เราในฐานะสถาปนิกฟังแล้วเจ็บปวดมาก (หัวเราะ) เพราะคน “มองแต่เรื่องทำเล” แต่ไม่มีใครสนใจเรื่องคุณภาพของอาคารหรืองานดีไซน์เลย!...ตอนเริ่มคอนโดใหม่ๆ เราก็แอบทุกข์เล็กๆ นะ เนื่องจากเราทำ Private Residence มาก่อน (ซึ่งเจ้าของอยู่เอง) แต่ “คอนโด” เป็นการสร้างบ้านที่เจ้าของ (Developer) ไม่ได้อยู่ ดังนั้นจะมี Conflict of Interest ระหว่างเจ้าของ (ซึ่งจะสนใจเรื่องตัวเลข) และผู้อยู่อาศัย (จะสนใจสิ่งที่จะได้) เราก็สงสัยว่า จะไม่มีทางเลยเหรอ?! ที่จะหาจุดร่วมที่ลงตัวให้กับคนทั้งสองฝ่าย”

               “ซึ่งในยุคนั้นคุณภาพการก่อสร้างในบ้านเราก็ไม่ค่อยดี โดยเฉพาะงานที่เป็นเชิงพาณิชย์ ซึ่งทำเอาเราเกือบถอดใจอยากเลิกคอนโดไปเลยเหมือนกัน เพราะในฐานะสถาปนิกคนหนึ่ง มันจะรู้สึกแย่มากเลยนะเวลาที่เราออกแบบไปอย่างหนึ่ง แต่พอสร้างเสร็จกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไปดูงานของตัวเองแล้วมันเฮิร์ทนะ (หัวเราะ)...ก็กลับมานั่งคุยกับพาร์ทเนอร์ว่า ถ้าเรารู้สึกแบบนี้แล้วเราล้มเลิกและปล่อยให้คนอื่น (คนที่ไม่สนใจเรื่องคุณภาพงานดีไซน์) ทำต่อไป คุณภาพงานออกแบบก็จะแย่แบบนี้ไปเรื่อยๆ เลยกัดฟันทำกันต่อ โดยพยายามจูงใจ Developer ให้เห็นความสำคัญ ซึ่งก็โชคดีที่เราเจอเจ้าของโครงการที่มี MindSet ที่ดีด้วย เลยช่วยกันทำให้คุณภาพของงานดีขึ้น นำมาสู่แนวทางในการออกแบบของเราที่จะเน้นเรื่อง “การพัฒนาพื้นที่ส่วนกลาง” และ “รายละเอียดดีไซน์ของตัวห้องพัก”

               ทั้งนี้ ข้อดีอย่างหนึ่งของการที่งานคอนโดซึ่งเป็นงาน Commercial คือ พอโครงการหนึ่งทำอะไรบางอย่างที่ดีขึ้น เมื่อโครงการอื่นเห็นก็ทำให้เกิด Dynamic Drive คือทุกคนจะเริ่มทำของดีแข่งกัน จนมาถึงวันนี้ นอกจากคำว่า ทำเลและราคาแล้ว เรื่อง “ดีไซน์” ก็เป็นสิ่งที่คนเริ่มให้ความสำคัญ...ผมว่ามันเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดี ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมประเภทไหน ถ้าเราในฐานะสถาปนิก “ให้ความสำคัญและใส่ใจที่จะทำทุกอย่างให้ดีขึ้น” จากตึกเล็กๆ หลังหนึ่งที่ดี เมื่อประกอบกันเป็นเมือง...ก็จะได้เมืองก็จะดีขึ้น!!

               ส่วนเทรนด์การออกแบบคอนโดตอนนี้ หลักๆ จะเน้นให้ความสำคัญเรื่อง อาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ต้องตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมตามความเหมาะสม และเรื่องคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย เพราะเรื่องสุขภาพเป็นประเด็นที่คนให้ความสำคัญมากขึ้น WELL Certification เป็นมาตรฐานเรื่องสุขภาพผู้อยู่อาศัยที่เป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ ก็เป็นแนวทางที่เราพยายามนำมาปรับใช้มากขึ้น ซึ่งจะใส่ใจเรื่องคุณภาพอากาศและคุณภาพของตัวอาคารเพื่อผู้อยู่อาศัย การเลือกใช้วัสดุที่เป็น Non-VOC Materialหรือวัสดุที่ไม่คายสารเคมีต่าง ๆซึ่งเป็นสิ่งที่คนเริ่มระวังมากขึ้น

               จากที่เราออกแบบคอนโดมาค่อนข้างเยอะ ดังนั้นเวลาออกแบบบ้าน โรงแรม หรืออาคารประเภทอื่น เราก็จะมีการผสมทักษะและแนวคิดการออกแบบระหว่างประเภทอาคารตลอดเวลา ซึ่งก็ทำให้ประยุกต์ให้เป็นประโยชน์ในโครงการต่างๆได้ดี สมมุติตอนทำคอนโด เราต้อง “ลงรายละเอียดฟังก์ชันละเอียดมาก” ดูกันเป็นเซนติเมตรจนกลายเป็นทักษะความชำนาญพื้นฐานในด้านความแม่นยำในเรื่องระยะการใช้งานต่าง ๆ เวลาเรามาทำบ้านที่สเกลใหญ่ขึ้น ก็จะเป็นอัตโนมัติเลยที่เราจะดู Dimension ได้แม่นยำขึ้น คือเมื่อพื้นที่ใหญ่ขึ้นจะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพได้สูงขึ้นไปอีก หรือเวลาที่เราทำบ้านที่ขนาดใหญ่ๆมีพื้นที่สวน มีธรรมชาติ หลายครั้งเราก็พยายามนำต้นไม้นำธรรมชาติกลับมาใส่ในคอนโด เช่น บางคอนโดเราทำให้ทุกยูนิตมีต้นไม้ 1 ต้น ตรงระเบียง ปกติตึก 8 ชั้นทั่วไป จะมีระเบียงไว้วางแอร์และตากผ้า แต่อันนี้เรามีต้นไม้เพิ่มให้ 1 ต้น ก็เป็นการเพิ่มพื้นที่ต้นไม้ มีธรรมชาติที่เติมเต็มหน่อย มีต้นไม้เยอะหน่อย แล้วเดียวก็จะมีธรรมชาติอื่น ๆ เช่น นก กระรอก กระแต มาอยู่กับเราเพิ่มอีก เป็นสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่ดีมากๆ

               ทั้งนี้ เวลาออกแบบที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะบ้านหรือคอนโด เรื่อง “พื้นที่สีเขียว” เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ที่เราพยายามจะใส่ลงไปก็เพื่อให้คนได้สัมผัสธรรมชาติให้มากที่สุด เพราะเรามองว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มด้านสุขภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตที่ดี ได้อย่างดีมาก

PHAITHAYA

  • สิ่งที่ควรมองหาเวลา “เลือกซื้อคอนโด” นอกจากทำเลแล้ว แนะนำให้ดู ความน่าเชื่อถือของ Developer ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะสร้างความมั่นใจได้ว่าโครงการที่เราซื้อ จะได้รับการพัฒนาและก่อสร้างได้เสร็จสมบูรณ์ ส่วนในเชิงดีไซน์แนะนำให้ดูผังห้องพักให้ละเอียดเหมาะสมกับ Lifestyle ของเรา กรณีถ้าคุณซื้ออยู่เองคือดูแล้วต้องวิเคราะห์ตัวเองทุกครั้งว่ามันตอบความต้องการใช้งานของเราครบไหม ปกติเวลาคนซื้อที่อยู่อาศัย มักจะซื้อสิ่งที่ใหญ่กว่าเดิมไม่ว่าจะบ้านหรือคอนโด พอมีพื้นที่มากก็ต้องดูว่า มากกว่าแบบไหน? เช่น ถ้าซื้อคอนโดเดิมเคยอยู่ One Bedroom ของใหม่จะเป็น One Bed Plus หรือจะเป็น Two Bedroom ลองพิจารณาเลือกรูปแบบ หรือฟังก์ชั่นที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเราและได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แล้วค่อยจ่ายเงินเพื่อห้องที่ใหญ่ขึ้น หรืออย่างปัญหาที่มักเจอของคนอยู่คอนโดคือที่เก็บเสื้อผ้าไม่พอ  ซึ่งในตลาดคอนโดก็จะมี Unit Type ที่ขนาดเท่ากัน  โครงการที่วางฟังก์ชั่นพื้นฐานพวกนี้ละเอียดก็มี  ที่ไม่ละเอียดก็มี  ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ และยังมีเรื่องพื้นที่ส่วนกลางพื้นฐาน เช่น สระว่ายน้ำ ฟิตเนส และ Co-working space มีสัดส่วนที่เพียงพอไหม ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันเราได้ครบถ้วนหรือไม่ 

  • ปัญหาเรื่องความหนาแน่นเป็นปัญหาพื้นฐานที่คล้ายกันของ สำหรับบ้านในเมือง คือ ถูกรายล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านแน่นไปหมด เช่น หน้าบ้านเป็นอพาร์ทเมนท์ 8 ชั้น หลังบ้านเป็นตึกแถว 5 ชั้น ทางซ้ายมีบ้าน 3 ชั้น ดังนั้นก็อย่าหวังว่าเปิดหน้าต่างไปแล้วจะเจอสิ่งที่เราอยากดู (เราจะเจอแต่คนอยากดูเรา แต่เราไม่อยากดูเขา)...วิธีการหนึ่งที่เราทำแล้วเป็นวิธีการวางผังที่ค่อนข้างเหมาะสมกับบ้านในเมือง คือ การทำสนามหรือสวนในบ้าน เพื่อสร้างวิวให้บ้านตัวเอง แล้วก็พยายามที่จะสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับที่ดินขึ้นมาเอง โดยสร้างสวน สร้างการไหลเวียนของอากาศต่าง ๆ  ขึ้นมา บนบริบทที่รอบข้างเต็มไปด้วยความหนาแน่นสูงของเพื่อนบ้านอย่างที่กล่าวไปข้างต้น เช่น บ้านอาจจะเป็นรูป L หรือ U Shape จะเป็นลักษณะที่ ถ้าเรานั่งในห้องหนึ่งแล้วเราจะมองเห็นวิวสวนของบ้านเรา และมองเห็นบ้านของตัวเองที่อยู่อีกฝั่ง แล้วก็มีสวนเป็นศูนย์กลางของบ้าน ซึ่งสำหรับบ้านที่ลูกยังเล็ก การมีสวนอยู่กลางบ้าน ก็จะทำให้เด็ก ๆ เข้าถึงสวนได้ง่าย ได้เรียนรู้การปลูกพืชผักหรือได้คลุกคลีกับดินบ้าง ก็ช่วยเรื่องให้เกิดการเรียนรู้และการเติบโตที่ดี

  • พร็อพหรือของตกแต่งคือสิ่งเติมเต็มที่อยู่อาศัย  เหมือนเราใส่ชีวิตเข้าไป เวลาออกแบบบ้าน ผมมักจะบอกเจ้าของว่า ยังไม่ต้องซื้อตกแต่งอะไรเยอะหรอก  เพราะเมื่ออยู่ๆ ไปเดี๋ยวชีวิตเรา “จะเติมเต็มบ้าน” ของเราเอง เช่น เวลาที่เราไปเที่ยว ก็อาจจะมีการซื้อของสะสมอะไรต่างๆ กลับมา  สิ่งเหล่านี้แหละ “เป็นชีวิต” เพราะมันบอกเล่าเรื่องราวของคุณ 

Favorite items

SB Design Furniture

Living Inspiration @ SB Design Square

ผมว่ามุมนี้ให้ความรู้สึกสบายๆ เป็นกันเองดีครับ  ดูเป็นสแกนดิเนเวียนนิดๆ  ส่วนสีก็ดูเป็น Unisex ซึ่งถ้าอยากแต่งห้องนั่งเล่นให้ใช้ได้ทั้งผู้หญิงผู้ชายเรื่อง “สีและรูปทรง” เป็นประเด็นที่ควรคำนึง  อย่างตรงนี้มีไม้โทนสีอุ่น ก็ทำให้ห้องดูนุ่มนวลขึ้น  รูปทรงของเฟอร์นิเจอร์ก็มีความโค้งมนให้ความรู้สึก Human Friendly มากขึ้น ซึ่งให้ผลในแง่จิตวิทยา

สนใจมุมนี้ เพราะเป็นมุมครัวที่มีโทนสีแปลกตาดี และแอบมีการตกแต่งขอบริมของหน้าบาน ซึ่งแนวๆ นี้ เป็นโมเดิร์นเรียบที่จะมีความขรึมเข้ามาหน่อย เป็นสไตล์ที่ตอนนี้เราทำให้หลายๆ บ้านแล้วเขาชอบครับ เพราะเป็นสไตล์ที่ยังมีความหรูหรา แต่เรียบและมีสีที่ดูขรึมๆ นิดนึง

พบกับ Designer ทั้งหมด