เศรษฐการ ยางเดิม

WEEK 42 : 15-21 ต.ค.
52 Weeks of Design

ABOUT HIM

“ในอนาคต บ้านพักอาศัยหรือพื้นที่การใช้สอยจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ คงไม่มีใครสามารถซื้อที่ดินแปลงใหญ่ๆ เพื่อมาสร้างบ้านหลังโตๆ เมื่อทุกสิ่งเล็กลงเรื่อยๆ สิ่งที่เราคิดคือ เราจะทำยังไงกับพื้นที่เล็กๆ ตรงนั้น เพื่อให้ได้ประโยชน์ใช้สอยได้สูงสุด?!” ไปพูดคุยต่อกับ คุณเอฟ – เศรษฐการ ยางเดิม ผู้ก่อตั้ง TOUCH Architect

“เวลาออกแบบ Space เราไม่ชอบดีไซน์พื้นที่ให้ใช้งานได้แค่อย่างเดียวครับ ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าทุกๆ โปรเจคที่เราออกแบบ เรามักจะใส่ฟังก์ชั่นอื่นๆ เข้าไป เพื่อให้ 1 Space ของเรา ควรได้อย่างน้อย 2 Function  เช่นโปรเจค  Duplicate-Duplex ที่เจ้าของรู้สึกว่าฟังก์ชั่นยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต เพราะเขาอยากได้ที่เก็บของเพิ่ม อยากได้ที่นั่งเล่นเพิ่ม แต่ปัญหาคือคอนโดห้องนี้อยู่ทิศใต้ บนชั้น 42 แดดเข้าร้อนมาก ซึ่งฟังก์ชั่นง่ายๆ ที่เราใช้คือ “ระแนงไม้”  ใส่เข้าไปในส่วนของ Living เพื่อให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ได้มากขึ้น หรืออย่างตัว “บันได” แทนที่จะใช้เดินขึ้นลงเพียงอย่างเดียว เราก็เพิ่มฟังก์ชั่นให้นั่งเล่น นั่งทำงาน หรือเก็บของก็ได้

หรืออย่างโปรเจค IN-SIGHT House ซึ่งเป็นบ้านหลังที่เพิ่งเสร็จล่าสุดของเรา ด้วยความที่ภรรยาของลูกค้ากำลังตั้งครรภ์ และมีลูกเล็กอีก 1 คน ทำให้ฟังก์ชั่นในบ้านไม่มีอะไรแน่นอนเลย ฉะนั้นตอนที่ดีไซน์ผมเลยออกแบบให้ทุกห้องสามารถปรับเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ นอกจากนี้ เรายังตั้งใจออกแบบให้บ้านหลังนี้ “เป็นแสงสว่างของชุมชน” อีกด้วย เนื่องจากโลเคชั่นของบ้านตั้งอยู่ปากซอยซึ่งตรงนั้นไม่มีไฟทาง แต่อาศัยการเปิดไฟจากภายในบ้านหลังนี้แล้วเรืองแสงให้บริเวณนั้นสว่างและดูปลอดภัย ซึ่งก็เป็นคอนเซ็ปต์เล็กๆ ที่เราพยายามทำ คือเราไม่ได้ตีความ “ฟังก์ชั่น” ว่าเป็นแค่การใช้งานภายในบ้านหรือเพื่อตอบโจทย์ Owner เท่านั้น  แต่เราคิดถึงทุกคนที่ผ่านซอยนั้นด้วย  

ตัวอย่างโปรเจคในเชิงพาณิชย์ ก็เช่น Plaagut ร้านอาหารย่านสาทร ซึ่งเป็นงานรีโนเวทบ้านเก่าให้กลายเป็นร้านอาหาร เดิมพื้นที่ตรงนั้นมีต้นมะม่วงใหญ่อยู่ 2 ต้น และปัญหาของลูกค้าคือจำนวนที่นั่งน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการ ตอนแรกก็มีไอเดียว่าจะตัดต้นไม้นี้ แต่ผมมองว่ากว่าที่ต้นไม้จะโตขนาดนี้ใช้เวลาหลายปี เลยเสนอลูกค้าไปว่าถ้าออกแบบให้ได้จำนวนโต๊ะตามที่เขาต้องการ เราขอรักษาต้นมะม่วงไว้ สุดท้ายคือเรา Add ฟังก์ชั่นใส่เข้าไปที่ต้นมะม่วง และทำให้มันกลายเป็นที่นั่ง Outdoor เก๋ๆ ขึ้นมาอีกแบบหนึ่งครับ

ส่วนวัสดุที่ใช้ในงานออกแบบตกแต่ง เรามองว่าไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุที่หายาก แต่หันมาเล่นกับวัสดุง่ายๆ ที่สามารถพบเห็นหรือหากันได้ทั่วไปดีกว่า แล้วใช้ดีไซน์เข้ามาช่วยให้งานนั้นมีความน่าสนใจขึ้นมา อย่างช่วงนี้ ผมจะเล่นกับ “โพลีคาร์บอเนต” ค่อนข้างเยอะ เพราะผมชอบวัสดุที่เปลี่ยนแปลงได้ คือสมมติว่าถ้าเรามองปูน เราต้องมี Lighting เพื่อฉายไปที่ผนัง มันจึงจะเปลี่ยนความรู้สึก แต่ “โพลีคาร์บอเนต” เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้นแหละ แต่สามารถสร้างความรู้สึกที่เปลี่ยนไปได้ทั้งกลางวันและกลางคืน  

สัจจะวัสดุอย่าง “ไม้” ผมจะเลือกใช้เฉพาะกับพื้นที่ภายในบ้าน ในส่วนที่เขาต้องสัมผัสหรือจับต้อง แต่ภายนอกอย่าง Outdoor ก็จะเริ่มเป็นวัสดุทดแทน เช่น ระแนงไม้เทียม หรือ อลูมิเนียมลายไม้ ซึ่งแน่นอนว่าสัมผัสที่ได้ไม่เหมือนไม้ แต่เวลาที่เราดีไซน์สิ่งเหล่านี้ มันคือสิ่งไกลตัวที่เราไม่ได้สัมผัส แต่เป็นสิ่งที่เรามองไกลๆ ดังนั้น มันก็จะให้ความสวยงามเหมือนไม้จริง คือ เมื่อก่อนผมจะไม่ชอบเลยนะเรื่องวัสดุทดแทน แต่พอทำบ้านมาเรื่อยๆ เราก็รู้สึกว่า สงสารลูกค้าครับ คือเราสร้างงานให้เขาเสร็จ เราถ่ายรูปสวย แล้วเราก็ไป แต่นั่นคือสิ่งที่เขาจะต้องอยู่กับมัน เขาจะต้องบำรุงรักษาบ้านต่อไปเรื่อยๆ คือจริงๆ แล้วก็เป็นปัญหาของบ้านเรามาสักพักแล้วล่ะครับ คือ ไม้จริงมีราคาแพงและต้องบำรุงรักษาเยอะ คือถ้าเป็นไม้จริงสำหรับงานภายในก็ยังพอหาช่างมาซ่อมบำรุงได้ แต่ถ้าเป็นภายนอก (ถ้าไม่ใช้โปรเจคอย่างรีสอร์ทที่มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดูแลอยู่เรื่อยๆ แต่เป็นโปรเจคบ้านพักอาศัย) วัสดุจะไปเร็วมาก

สำหรับบ้านพักอาศัย ผมมองว่า “ความอยู่สบาย” เป็นหัวใจสำคัญ แม้ว่าตัวสถาปนิกเองอยากสร้างงานดีๆ อยากได้งานหวือหวา อย่างสร้างอะไรที่สวยสะดุดเห็นแล้วโลกตะลึง แต่สุดท้าย...ในความเป็นบ้าน เรารู้ว่า “บ้านที่ดีต้องอยู่สบาย” ซึ่งก็จะประกอบขึ้นจากองค์ประกอบหลายอย่าง หลักการเลยคือ “บ้านต้องเย็น” เพราะสภาวะที่เราสบายคือการมีอุณหภูมิที่พอเหมาะ ซึ่งคำว่าเย็นในที่นี้ก็อาจมาจากการมีการไหลเวียนของอากาศที่ดี (Cross Ventilation) หรือการเปิดแอร์ก็ได้ (แต่ใช้เท่าที่จำเป็นก็พอ) และเรื่องของ “ทิศทางการวางอาคาร” ซึ่งเราให้ความสำคัญมาก เพราะถ้าเลือกวางอาคารผิดตั้งแต่แรก ทุกอย่างจะผิดไปหมดเลย เราจึงมีความเข้มงวดกับการวางอาคารมาก เพราะ “ถ้าวางอาคารดี จะมีชัยไปกว่าครึ่ง” ส่วนไหนร่ม ส่วนไหนแดด ผมก็จัดฟังก์ชั่นให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หรือบางทีถ้ามีข้อจำกัดในแง่พื้นที่ เช่น หน้าบ้านต้องหันไปทางทิศใต้ ยังไงแดดก็ต้องลง เราก็ต้องหาทางแก้ปัญหาให้หน้าบ้านใช้งานได้และกันความร้อนให้เข้าสู่อาคารได้น้อยที่สุด  จริงๆ เราแก้ปัญหาด้วยหลักการพื้นฐานง่ายที่สุด คือทำยังไงก็ได้ให้แดดโดนผนังน้อยที่สุด เช่นทำ Double Layer ขึ้นมา โดยอาจเป็น Façade  เป็นต้นไม้ หรือเป็นกำแพงขึ้นมาก็ได้ 

สิ่งหนึ่งที่ผมมักพูดกับน้องๆ ในทีมเสมอ คือ ถ้าคุณคิดได้แค่นี้! ทำได้แค่นี้! คือจัดพื้นที่แล้ววางของลงไปแบบนั้น ลูกค้าไม่จ้างเราหรอก! แต่สถาปนิกที่ดี “ควรจะเสนอสิ่งที่ลูกค้าไม่สามารถคิดได้” ให้กับเขา และนี่จึงเป็นเหตุให้งานของ TOUCH Architect ส่วนใหญ่จะต้องมี Gimmick อะไรบางอย่างที่ให้คุณค่าเพิ่มให้กับลูกค้าเสมอครับ

SETTHAKARN

  • หากตัวบ้านอยู่ในทิศที่ไม่เหมาะสม เช่น ทิศใต้ที่แดดแรง  เราอาจแก้ปัญหาพื้นที่ด้วยการใช้ฟังก์ชั่นบางอย่างภายในบ้านมาช่วยบล็อกความร้อนได้ เช่น บันได ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เราใช้เวลากับมันน้อยที่สุด เพราะปกติเราจะใช้เป็นทางสัญจรผ่านไปมา  ก็แนะนำให้จัดพื้นที่ส่วนนี้ไปบล็อกแดด...ง่ายๆ ก็คือ พื้นที่ที่เราไม่ได้ใช้งานเป็นประจำ แบบที่เราไม่ได้แช่อยู่กับมันเกิน 15 นาที  เราสามารถใช้ฟังก์ชั่นตรงนี้ไปกันความร้อนได้

Favorite items

SB Design Furniture

Living Inspiration @ SB Design Square

มุมนี้น่าสนใจ เพราะมันลักษณะคล้ายๆ กับงานออกแบบของเราที่ทำอยู่ คือเป็น Open Plan ที่เชื่อมระหว่างมุมนั่งเล่นและมุมทานข้าว และมีการใช้ Scheme สีที่เข้ากัน ใช้จุดเด่นของสีนิดเดียว แต่ทำให้ตัวงานเด่นขึ้นมาได้ อยู่แล้วทำให้ดูสบายตา

ส่วนมุมนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านดีครับ จริงๆ แล้ว คนเราใช้ชีวิตในห้องนอน เราก็แค่นอนแล้วตื่นขึ้นมาแต่งตัว ฉะนั้น ส่วนตัวผมไม่ได้ชอบห้องนอนใหญ่ ผมชอบห้องนอนเล็กๆ ที่รู้สึกเป็นสัดส่วนและอบอุ่นครับ

พบกับ Designer ทั้งหมด