วัชรวิชญ์ ชื่นธีระวงศ์

WEEK 46 : 12-18 พ.ย.
52 Weeks of Design

ABOUT HIM

“เป็นสถาปนิกและทำงานออกแบบในเมืองไทยสมัยนี้ ไม่ว่าจะโปรเจคบ้าน (Residential ) หรือแม้แต่งานที่ออกแบบเพื่อการพาณิชย์ทั้งหลาย (Commercial Project)  แทบจะทุกโปรเจคที่ได้มีโอกาสทำงานมา สิ่งที่หนีไม่พ้นคือเรื่อง ฮวงจุ้ย (Feng Shui) ซึ่งผมไม่ได้ต่อต้านเรื่องนี้นะครับ...อันที่จริงดีไซน์ที่ทำ ผมคิดว่ามี Criteria ของศาสตร์นี้มาผสมผสานด้วยก็ยิ่งสนุกดี จากประสบการณ์งานที่ผ่านมาได้ตกผลึกทางความคิดว่า ฮวงจุ้ย คือ การที่คนโบราณพยายามศึกษาและนำพลังธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ และเนื่องจากมันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากเป็นนามธรรม จึงสื่อสารผ่านการคำนวณต่างๆ ซึ่งหน้าที่ผมก็คือ นำสิ่งที่เป็น “นามธรรม” เหล่านั้น แทนค่าด้วยรูปธรรม สี วัสดุ การกำหนดพื้นที่ว่าง การวางผัง ให้สอดคล้องกันกับศาสตร์การออกแบบสมัยใหม่ รวมถึงต้องถูกใจและเข้ากับจริตของเจ้าของ หรือตอบโจทย์ของแบรนด์ด้วย  สัปดาห์นี้ ได้รับเกียรติจาก สถาปนิกหนุ่มผู้มีมุมมองต่อ 2 ศาสตร์ ที่น่าสนใจมาร่วมแชร์ไอเดียกับเรา คุณเพียว- วัชรวิชญ์ ชื่นธีระวงศ์  จาก Pure Architect

อันที่จริงผมสนใจอยู่หลากหลายศาสตร์นะครับ และก็เชื่อว่างานออกแบบยิ่งเป็นงานสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นอาคารประเภทไหน มันคือ “ส่วนขยาย” ของ ความคิด - วิถี – ความเป็นตัวตน ออกไปไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคน หรือ ปัจเจกชน ผมเริ่มสนใจเรื่อง ฮวงจุ้ย เริ่มต้นจาก การย้อนไปประมาณ 5 ปีที่แล้ว  ที่ผมได้มีโอกาสดีไซน์ Head Office ของ Dplus Intertrade ซึ่งเป็นงานรีโนเวทอาคารออฟฟิศเก่า โจทย์คือต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์องค์กรใหม่ทั้งหมด รวมถึงตอกย้ำ ความเป็น Brand Unity  ซึ่งโปรเจคนี้ซินแสท่านได้กำหนดตำแหน่งของโซนต่างๆ รวมถึง สีที่จะใช้ ด้านหน้าอาคาร ในฐานะสถาปนิกผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า การวางผังลักษณะนี้ ตำแหน่งต่างๆ ที่ถูกกำหนด มีหลักหรือนัยยะอะไร ซึ่งพอหลังๆ จับหลักได้ เราก็เริ่มเข้าใจ เราก็ใช้หลักความงามของเราเข้าไปจับ Criteria เหล่านั้น โดยพลิกแพลงช่วยทำอย่างไรให้ลงตัว กลมกลืน ไม่ดูเคอะเขิน และเสริมให้แต่ละส่วน ตั้งแต่ หน้าอาคารภายนอก ไล่ไปถึงทุกๆ ส่วนของพื้นที่ภายในอาคาร Touch Point ต่างๆ ให้แสดงความรู้สึกและสร้างประสบการณ์ต่อผู้ที่ใช้สอยได้ จนสุดท้ายก็กลมกล่อมลงตัว โดยไม่ค่อยมีใครรู้หรอกว่างานนี้มีเรื่องฮวงจุ้ยอยู่ด้วย เพราะมันเป็นดีไซน์ ที่ Feng Shui Friendly

ผมมองว่า ฮวงจุ้ย คือ การศึกษาธรรมชาติ เช่น ลม แดด ฝน ทั้งสิ่งที่มองเห็นและไม่เห็น จับต้องได้และไม่ได้ของบริบทที่ตั้ง คน และ ช่วงจังหวะของเวลา แต่หากมีผลกระทบต่อคน เช่น คลื่น แล้วอาศัยการคำนวณ ใช้การวางตำแหน่ง ทิศทาง การกั้นพื้นที่ เปิด ปิด วัสดุ โทนสี เพื่อดึงประโยชน์จากพลังงานเหล่านี้ มาใช้เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง หลักการเดียวกันกับที่เราเปิดช่องเปิดสำหรับถ่ายเท ลม หรือ ทำระแนงเพื่อกรองแสงแดด เพื่อความสบายในการอยู่อาศัยเลยครับ  แต่บางอย่างเราไม่สามารถสัมผัสไม่ได้ ต้องอาศัยการคำนวณ เช่น “ขั้วแม่เหล็กโลก” แต่เรารู้กันว่ามีแกนเหนือ-ใต้ มีคลื่นนี้อยู่ ต้องอาศัยเข็มทิศ ทิศทางวัดจึงจะเห็น แล้วมันสัมพันธ์กับคนอย่างไร ในตัวคนก็เป็นคลื่น ถ้ามองเชิงวิทยาศาสตร์ การจัดเรียงกันของโมเลกุล ถ้าเราวางตำแหน่งต่างๆ โดยอาศัยการวางผังสองมิติให้สอดคล้องกันกับธรรมชาติก็ย่อมก่อเกิดสภาวะแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้อาศัยหรือผู้ใช้พื้นที่ นั้นๆ  ยกตัวอย่างเบื้องต้นง่ายๆ ตามที่ในศาสตร์นี้แบ่งธาตุเป็น 5 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ ทอง จริงๆ มันเป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสาร “นามธรรม” คนละความรู้สึก

คือถ้าตามหลักวิทยาศาสตร์ ธาตุดิน คือสิ่งที่แทนความหนักแน่น เช่น วัสดุพวกหิน สีโทนครีม น้ำตาล เหล่านี้จะให้ Look ของความเป็นผู้ใหญ่ หนักแน่นน่าเชื่อถือ ไม่โฉบเฉี่ยว ตรงข้ามกับ ธาตุน้ำ คือ โทนสีไปทางเทาดำ สีครามเข้ม สังเกตงานออกแบบที่ใช้โทนดำมากๆ  ก็จะดูโฉบเฉี่ยว เท่ ล้ำ ส่วน ธาตุทอง คือพวกโทนโลหะแวววาวทั้งหลายกับสีขาว เป็นสัญลักษณ์ของความเด่น ชัดเจน เอาไว้โชว์ หรือสามารถเอามาใช้ เป็น Accent ในงานดีไซน์ ก็ทำให้มีความหรูหรามีมิติขึ้น  ธาตุไฟ คือ โทนสีแดง ม่วง  ส่วนใหญ่สีแดงจะไม่ค่อยถูกใช้ในโปรเจคประเภทบ้าน แต่จะถูกนำไปใช้ในงานแบบอื่นที่ต้องการการปลุกเร้าเพราะมันจะกระตุ้นพลังงาน ธาตุไม้ คือ สีเขียวหรือตัวแทนของสิ่งมีชีวิต เช่น ต้นไม้ ที่เพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่ ซึ่งธาตุทั้ง 5 นี้เป็นภาษาของฮวงจุ้ย แต่ถ้าเป็นภาษาทางสถาปัตยกรรม มันก็ไม่ต่างกับสิ่งที่เรียนมาคือเรื่องของสีโทนร้อน โทนเย็น และวัสดุ ที่สัมพันธ์กับความรู้สึก...เพราะสิ่งเหล่านี้ จริงๆ มันก็คือ “ภาษาของความรู้สึก” นั่นเอง  จึงไม่เป็นเรื่องแปลกเลย ที่นักออกหรือสถาปนิกหลายๆ ท่านที่ไม่ได้ศึกษาด้านนี้ แต่ออกแบบด้วยเซนส์ แต่กลับไปตรงตามหลัก ไม่ขัดแย้งกับฮวงจุ้ยเลย  คือ “ถ้าเข้าใจ” เราก็พูดภาษาเดียวกัน...การออกแบบให้สอดคล้องก็เป็นไปได้โดยไม่ยาก เพราะทุกอย่างอธิบายได้ และสามารถนำมาเป็นโจทย์ในการสร้างงานออกแบบที่ตอบความต้องการและมีคุณค่าในหลายมิติได้

ในมุมองผม จริงๆ งานออกแบบสถาปัตยกรรม คือ การสร้างสรรค์พื้นที่ว่าง หรือ Space โดยใช้วัตถุธาตุในโลก เพื่อตอบวัตถุประสงค์ใด โดยสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า คน สามารถที่จะเข้าไปอยู่ใช้สอยหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วยในทางใดทางหนึ่ง ถ้าในส่วนนั้นมีความสมดุลของมันในตัวก็จะโอเค ซึ่งความสมดุลก็สามารถเกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลากหลายอย่าง เช่น ตำแหน่ง โทนสี การใช้วัสดุ และบรรยากาศ คนอยู่จะรู้สึกถึง Balance  โดยความสมดุลนี้ไม่จำเป็นต้องเท่ากันหรือเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่ามันตอบโจทย์หรือวัตถุประสงค์ใดและตอบใคร รวมถึงมันตั้งอยู่ที่ใดและในช่วงเวลาใด เช่น เวลาออกแบบบ้านสักหลังหรือโครงการใดๆ นอกจากเรื่อง “ฮวงจุ้ย” ที่เรารับโจทย์มาจากลูกค้าหรือคุยกับซินแสแล้ว เราจะพิจารณาว่า “วัตถุประสงค์ของบ้าน” คืออะไร เพราะนอกจากฟังก์ชั่นของการอยู่อาศัยแล้ว มันจะมีบางอย่างซ่อนอยู่ เรียกว่าเป็น Need เช่น บางท่านต้องการ “บ้าน” เพื่ออยู่ เงียบๆ บ้างก็เพื่อโชว์หรือแสดงความสัมพันธ์กับบางสิ่ง เช่น รถหรือของสะสม ซึ่งบางครั้งตัวเจ้าของเองก็อาจทราบหรือไม่ทราบ หรือไม่สามารถอธิบายออกมาได้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมต้อง Crack สิ่งที่ซ่อนอยู่ เพราะมันจะมีผลกับงานออกแบบในมิติต่างๆ เช่น ฟังก์ชั่นเฉพาะตัว การเข้าถึง หรือการเชื่อมต่อของพื้นที่ โดยบางทีเราก็ต้องนั่งสัมภาษณ์กันนานหน่อย บางอย่างต้องสังเกตจากอวัจนภาษา บางทีสถาปนิกก็เหมือน “นักจิตวิทยา” จะไปถามตรงๆ ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เขาไม่รู้หรอก แต่สถาปนิกมีหน้าที่ถอดรหัสจากสิ่งที่เขาอยู่ ที่เขาเป็น และที่เขาชอบ บุคลิกที่ซ่อนอยู่ เราต้องดึงวิถีของทั้งเราและเขา ออกมาให้เป็น Criteria ในการดีไซน์ แล้วปรุงให้ตอบโจทย์ความต้องการของเขา โดยใส่ความงามรวมถึงภูมิปัญญาของเราลงไปเป็นปัจเจกให้ลูกค้าเป็นรายๆ ไป บางทีเราก็ต้อง สังเกตจากรถที่เขาขับหรือชอบ แล้วใช้สิ่งนี้มาถอดรหัสมาออกแบบเป็นบ้านให้เขา เพราะรถมันก็คือคาแรคเตอร์บางอย่างที่สะท้อนความเป็นเขา รถคันนึงกว่ามันจะดีไซน์ออกมารูปลักษณ์แบบนี้หรือการสื่อสารต่อกลุ่มเป้าหมาย  มันก็มาจากการสื่อสารอารมณ์ของกลุ่มคำบางอย่างที่นิยามเป็นรูปธรรมนั้น เช่น โฉบเฉี่ยว รวย สปอร์ต ผมก็ใช้วิธีย้อนศร คือเอาสิ่งนั้นมาถอดกลับออกมาเป็นกลุ่มคำ แล้วถอดเป็นภาพของงาน เพื่อเอามาขยายเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ตอบกับเจ้าของ   

นอกจากจะเป็นสถาปนิกที่เหมือนเป็นทั้ง มิตรกับซินแสและนักจิตวิทยาแล้ว ลูกค้าบางท่านบอกว่า ผมเหมือนเป็น “หมอศัลยกรรม”  อีกด้วย (หัวเราะ) เพราะช่วงนี้มีงานรีโนเวทเข้ามาค่อนข้างมาก ซึ่งเวลามีเคสเข้ามาเราก็ต้องดูว่า มาแบบนี้จะเติมอะไร จะแค่แต่งหน้าแต่งตาหรือทำทั้งหน้าเหมือนศัลยกรรม ผมว่าคำว่า “Renovate” มีระดับของมัน เทียบง่ายๆ เหมือนจะทำแค่แต่งหน้าแต่งตา คือ แคทาสี จัด Prop เอาต้นไม้และเฟอร์นิเจอร์ลง แต่ Space ไม่เปลี่ยน…แค่นี้บางทีก็เรียก รีโนเวทแล้ว  

แต่ถ้าลงไปถึงระดับเปลี่ยนโครงสร้าง เพื่อเปลี่ยน Space เช่นจากบ้านเก่าทึบๆ แล้วทุบเห็นทะลุไปถึงฟ้า ลอกพื้นผนังเหลือแต่คาน อันนี้คือการผ่าตัดแล้ว ซึ่งจะสร้าง Impact ได้มากกว่า  ตัวอย่างเคสผ่าตัด MO Residence ตึกยุค 80 ถ้าเป็นคนก็คือโครงเดิมดี หุ่นสวย มีคาแรกเตอร์อยู่แล้ว เราจะไม่ไปถล่มทลายอะไรมาก ก็จะเสริมสิ่งที่มีอยู่แล้วกับสิ่งที่เขาต้องการใหม่ เจ้าของชอบตึกสีเข้มๆ เพราะไปเห็นที่โคเปนเฮเกนแล้วชอบ เราก็ทำตึกสีเข้มๆ เงียบๆ นิ่งๆ ประตูสูงเกือบ 3 เมตร ปรับพื้นที่ภายในเป็น Open Space ข้างในเป็นสีโทนสว่างตัดกับข้างนอก เจาะทะลุเอาแสงเข้าไป  การตกแต่งภายในจะน้อยมาก  แค่นำเอาเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเข้าไปตั้งๆ ก็โอเคแล้ว คือ พอโครงสวยและ Space มันได้แล้ว จะนำของอะไรไปวาง ผมว่ามันก็จะสวยโดยอัตโนมัติ เหมือนคนหุ่นดี ใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ก็ดูดี ประเด็นคือในการรีโนเวท “โครง ต้องดีก่อน” แต่ถ้าโครงไม่ได้หรือเป็นแค่ห้องสี่เหลี่ยมธรรมดา ก็ต้องใช้การตกแต่งภายในการ decorate เข้ามาช่วย   แต่ Space ที่สวย คือ พื้นที่ที่มีเรื่องของการเอาแสงเอาเงาเอาที่ว่างเข้ามา “งานตกแต่งภายใน” สำหรับผม เน้นที่เรื่องของโครงสร้างกับ Space มากกว่าการประดับประดา คือ เหมือนกับว่าถ้าคนมีพุงมีไขมันส่วนเกิน เราก็จับ Shape จับ Form ใหม่ให้หุ่นดีขึ้นก่อน แล้วค่อยใส่เครื่อง ประดับตกแต่งลงไปเพื่อให้มันว้าวขึ้น ให้มันส่งกัน แต่ถ้าหุ่นไม่ดีแต่แต่งเข้าไปมากๆ จะกลายเป็นว่าจุดสนใจจะไปอยู่ที่ของแทน ไม่ได้อยู่ภาพรวมของงาน

แต่อันที่จริง งานผมก็ไม่ค่อยกำหนดกฎเกณฑ์อะไรตายตัว สิ่งที่คิดอยู่เสมอ คือ ทำงานที่ตอบสนองความต้องการ และโจทย์ของลูกค้า แต่ใส่มุมมองความงามและภูมิปัญญาของเราลงไป เพราะสิ่งนั้นคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการจากเรา  บางงานเรากำหนดโครงไกด์ไว้ เจ้าของเลือกของเขาเอง ผมว่าเขาจะสนุกกับการตกแต่งมากกว่าที่เราจะไปกำหนดอะไรมากมาย ตัวอย่างโปรเจค Craftel โฮสเทลย่านราชเทวี อันนี้ถ้าเปรียบเป็นคนก็เป็นคนแต่งตัวแบบจัดจ้านเลย คล้ายคนใส่ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า มาเต็ม! เพราะกลุ่มเป้าหมายของเขาเป็นฝรั่งที่จะชอบความคราฟต์ งานตกแต่งภายในของที่นี่ก็จะมี “ความขยำ” ดูไม่นิ่งไม่เรียบ ดูต้มยำกุ้ง มันคือความเยอะสไตล์ไทยๆ จะประเคนอะไรก็ใส่ไป แต่มี Theme คลุมไว้ โดยผมก็จะปล่อยที่ว่างให้ Owner เขาได้มีพื้นที่เล่นของเขา ได้ใส่อะไรที่เป็นสีสันของเขา มันก็อาจจะดูไม่ค่อยเข้ากันแต่มันก็อยู่กันได้ และมีเสน่ห์อีกแบบ เรียกว่าเสน่ห์ของ “ความไม่สมบูรณ์แบบ” แบบไทยๆ

PURE

• Photogenic & Instagrammable การออกแบบสมัยนี้ โดยเฉพาะงาน Commercial ไม่ว่าจะเป็นงานสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน แลนด์สเคป หรือทุกๆ มิติ เนื่องด้วยยุคนี้เป็นยุคของสื่อ อยากให้มองตัวงานเป็นเหมือนสื่อชิ้นหนึ่งที่มีปฏิสัมพันธ์กับตัวตนของคน  นอกจากในโลกกายภาพแล้ว ยังในโลกเสมือน และโลกโซเชียลอีกด้วย ด้วยการถ่ายภาพตัวเองกับ Space  ผมมองว่าเราไม่จำเป็นต้องสร้างจุดเด่นให้ทุกห้อง  มันอยู่ที่โจทย์และคาแรกเตอร์ของงานรวมถึงงบประมาณ แต่ควรจะทุ่มไปจุดที่ Impact ต่อคนที่ปฏิสัมพันธ์มากที่สุด เช่น ด้านหน้าอาคารอาจต้องมีจุดเด่น แต่ในห้องนอนอาจไม่ต้องขนาดนั้น  (ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโจทย์) แต่งานยุคนี้หนีไม่พ้น มันเป็นการดีไซน์มากกว่าฟังก์ชั่น การใช้งาน แบบในยุคก่อนๆ

• Hidden Cost ในงานรีโนเวท จะซ่อนอยู่เยอะในงานระบบ เวลาที่เราเห็นภาพสวยๆ เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเบื้องหลังเขาทำอะไรมาบ้าง  สิ่งที่ซ่อนอยู่ คือ งานระบบซึ่งเปรียบเหมือนเส้นเลือด เช่น พวกสายไฟ ท่อน้ำ แม้ว่ามันจะไม่ออกมาเป็นความสวยงาม  แต่คุณต้องเตรียมงบสำหรับตรงนี้ไว้ประมาณ 30-40% และยิ่งถ้าอาคารนั้นเป็นอาคารเก่ามาก หาที่มาที่ไปของแบบเดิมไม่เจอ ก็มีความเสี่ยงเรื่องโครงสร้างที่จะไม่ Support งานระบบก็จะเยอะขึ้นเป็นหลายเท่า

Favorite items

SB Design Furniture

Living Inspiration @ SB Design Square

ผมเลือกห้องนี้เพราะดูหรูเท่ๆ แบบผู้ชายสมัยใหม่ Alpha Male ดูภูมิฐาน นิ่งๆ และแพง น่าจะเหมาะกับการแต่งคอนโดกลางเมืองสไตล์ Urban Life บรรยากาศห้องโดยรวมดูไม่มืดและไม่ขรึมเกินไป มีการใช้โทนสีครีมอ่อนและสีดำ ทำให้ดูทันสมัยวัยรุ่นขึ้นครับ ตัวโคมไฟประดับก็ดูเป็น Sculpture Form วางเด่นเป็น Modern Piece ในห้อง ส่วนตู้เสื้อผ้าแนวเปิดโล่งแบบนี้ต้อง เหมาะกับคนที่แต่งตัวคุมโทนจริงๆ ประมาณสีดำ เทา น้ำเงิน จึงจะเหมาะครับ

ส่วนมุมนี้ดูมีความเป็น Asian โดยรูปแบบและโทนสีของไม้ที่นำมาตกแต่ง ซึ่งเป็นโทนอบอุ่นสบายๆ มีความเรียบที่ซ่อนความหรูอยู่ และมีลูกเล่นเป็นบิลท์อินที่หัวเตียง ให้ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่สำหรับจัดเก็บหรือวางโชว์สิ่งของได้ เหมาะจะเป็นห้องสำหรับวัยรุ่นวัยทำงานดีครับ

พบกับ Designer ทั้งหมด