นพชัย อรรฆยะพิศุทธิ์

WEEK 48 : 26 พ.ย.-2 ธ.ค.
52 Weeks of Design

ABOUT HIM

ถ้าถามถึงร้านกาแฟที่ต้องไปโดน เชื่อว่า Kaizen Coffee น่าจะเป็นหนึ่งในชื่อที่ผุดขึ้นในใจของคอกาแฟหลายคน เพราะเสิร์ฟกาแฟคุณภาพดี แถมยังมีบรรยากาศร้านดีไซน์เก๋ๆ ให้ได้แชะและแชร์อีกด้วย สัปดาห์นี้ ชวนมาพูดคุยกับ คุณยุ่น - นพชัย อรรฆยะพิศุทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Space+Craft บริษัทออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังความสวยงามของร้านคอฟฟี่ขวัญใจคอกาแฟ

“ก็ออกแบบให้ Kaizen Coffee มา 3 สาขาแล้วครับ สาขาแรกจะเป็นคาเฟ่ที่สีขาวมากๆ ดูโมเดิร์นมากๆ  ส่วนสาขาที่ 2 อยู่แถว Skylane สุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ใกล้กับสนามปั่นจักรยาน เราก็ออกแบบตกแต่งภายในโดยทำเป็นเส้นล้อไปกับเลนปั่นจักรยาน แต่พอมาสาขาที่ 3 ที่เอกมัย ก็เลยอยากทำให้ Contrast เพื่อให้คนรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง โดยสาขานี้ เป็นอาคาร 2 ชั้น ซึ่งเราก็มองว่าเราไม่อยากทำให้ดูเหมือนร้านอาหารหรือโรงอาหารที่มีแต่เก้าอี้ อีกทั้งการมี 2 ชั้น ด้วยก็ยิ่งเป็นโจทย์ยาก เพราะต้องคิดว่าจะทำยังไงให้คนอยากขึ้นไปชั้นบน เราก็พยายามออกแบบที่นั่งให้มีความวาไรตี้ ดูแปลกแตกต่างกันเข้าไปเยอะๆ เช่น เป็นเก้าอี้ เป็นโซฟา เป็นสตูลบ้าง ทำเป็นเหมือนที่นั่งใต้หลังคาบ้าง เป็นต้น และมีการนำอิฐมาสร้างแพทเทิร์นให้เกิดคาแรคเตอร์ใหม่ๆ โดยตัวสถาปัตยกรรมต้องสามารถตอบโจทย์การขายในแง่ที่ว่า เราต้องพยายามทำร้านให้ตอบโจทย์กับทำเลและกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด สาขานี้ขยับเข้าเมืองมาอีกหน่อย เราก็จะมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง คือมันต้องมีความสวยงาม ดึงดูดความสนใจ ต้องถ่ายรูปได้ แต่ทั้งนี้ ผมก็จะพยายามระวังไม่ตกแต่งร้านให้ดูจัดเกิดไป เพราะมันจะไม่ตอบโจทย์คนทั่วไปเท่าไหร่ ผมมองว่าบางครั้งร้านที่ดูสวยมากๆ มันสวยจนเกร็ง ถ้าเนี้ยบมากๆ มันจะเข้าถึงยาก ผมมองว่างานในเชิง Commercial สุดท้ายคือ มันต้องช่วยให้ลูกค้าขายขายได้ เดี๋ยวนี้การทำให้คนเข้าไปใช้บริการไปถ่ายรูปเป็นเรื่องสำคัญ เราก็ค่อนข้างใสใจกับเรื่องพวกนี้ว่า ทำยังไงจะให้คนอยากเข้าร้าน ทำยังไงให้แบรนด์ดูใหม่อยู่เสมอ”

ที่ Space+Craft  งานที่เข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นประเภททั้งร้านอาหารและคาเฟ่ และจริงๆ เราก็รับออกแบบงานประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น โรงแรม โรงเรียนดนตรี และบ้าน ซึ่งเราจะถนัดงานที่ออกแนวโมเดิร์นมากๆ เน้นความน้อย เพราะอยากให้ลูกค้าอยู่ได้นาน อยู่แล้วไม่เบื่อ ฉะนั้นเวลาตกแต่งภายใน ดังนั้นจึงจะเน้นความเรียบโล่งมากๆ  แต่พยายามมีดีเทลในความเรียบนั้น

ผมว่าสิ่งสำคัญของ “บ้าน” คือ Plan ถ้าวางแปลนได้ดีแล้ว มันก็จะสวยโดยไม่ต้องทำอะไรเยอะมาก คำว่า “แปลนที่ดี” ก็หมายถึง แปลนที่ต้องตอบเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งานและสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของ User อย่างบ้านที่ปลูกเอง เราก็สามารถกำหนดฟังก์ชั่นได้ตั้งแต่แรกว่า จะกี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ เดินเข้ามาแล้วเจออะไรก่อน แต่ถ้าเป็นบ้านจัดสรร  เราอาจไม่สามารถอะไรให้ถูกใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเขาจะมี Layout เป็นกรอบอยู่แล้ว เราก็จะพยายามทำเท่าที่ทำได้ โดยจะเข้าไปดูในแง่การใช้งานก่อนว่า ฟังก์ชั่นที่เขาให้มานั้นตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะไม่เข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือต่อเติมอะไรมาก แต่จะพยายามทำของที่มีอยู่ให้ดีขึ้นดีกว่า โดยการปรับฟังก์ชั่น เช่น เราอาจต้องการห้องนอนแค่ 3 แต่ทางหมู่บ้านให้มา 4 สิ่งที่ทำได้ก็คือต้องปรับเปลี่ยนห้องที่เกินไปเป็นฟังก์ชั่นอย่างอื่นที่ตอบโจทย์เรามากกว่า โดยอาจปรับจากห้องนอนไปเป็นห้องทำงาน ห้องดูหนัง หรือห้องอ่านหนังสือ เป็นต้น  

หรืออย่างงานรีโนเวทที่เคยทำ ตัวอาคารเป็นบ้านไม้เก่าโบราณสมัยรัชกาล 5 เราก็พยายามเก็บของเก่าให้ได้มากที่สุดแล้วก็ใส่เพิ่มเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งด้วยความเป็นบ้านเก่า การที่เราจะไปทำให้โมเดิร์นจัดก็คงไม่ได้ เพราะจะทำให้ดูเปลี่ยนคาแรคเตอร์มากเกินไป เรามองว่ามันควรต้องกลมกลืนกับของเดิมที่มีอยู่ เช่น หน้าต่างฉลุ บันไดไม้อันเก่า ผนังกับฝ้า เราเก็บไว้ (แค่ขัดสีทำใหม่) ส่วนสิ่งเพิ่มเติมเข้าไปก็มีพวกตู้เสื้อผ้า โดยใส่ฟังก์ชั่นเก็บน้ำหอม เก็บเข็มขัด คือใส่ฟังก์ชั่นที่ดูโมเดิร์นเข้าไป แล้วเล่นเรื่องไฟหลืบไฟซ่อนให้ดูมีอะไรมากขึ้น

ทั้งนี้ ประเด็นที่อยากฝากไว้สำหรับใครที่กำลังคิดจะปลูกบ้านหรือออกแบบตกแต่งบ้านใหม่ คือ คุณควรพิจารณาเลือกสถาปนิกจากคนที่เขามีผลงานในแนวทางที่คุณชอบ ดีกว่าจะเลือกเพราะเขาเป็นเพื่อน เป็นญาติ หรือคนรู้จัก เพื่อที่เวลาทำงานร่วมกันจะได้คลิกกันได้ง่าย เพราะหากสไตล์หรือแนวไม่ตรงกันตั้งแต่แรก มันจะทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องใช้แรงเยอะในการพูดคุยและทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

NOPPACHAI

  • ปรับพื้นที่บ้านจัดสรร สิ่งที่พอจะทำได้คือ 1.ปรับฟังก์ชั่น โดยไม่ต้องต่อเติมก็ได้ แต่ให้ลองดูว่ามีพื้นที่อะไรเหลือและพอจะปรับเปลี่ยนไปทำอะไรได้บ้าง 2.ดึงแสงธรรมชาติเข้ามาให้มากที่สุด ซึ่งโดยส่วนมากบ้านจัดสรรจะให้หน้าต่างบานเล็ก เราก็อาจจะทำการทุบผนังออก แล้วใส่หน้าต่างใหญ่เข้าไป เพื่อเปิดมุมมองไปยังธรรมชาติด้านนอกและได้แสงเข้ามามากขึ้น

Favorite items

SB Design Furniture

Living Inspiration @ SB Design Square

ชอบมุมนี้ในเรื่องของการคุมโทนสี ขาว-เทา-ดำ ซึ่งเป็นโทนสีที่ดู Timeless และเข้ากับการแต่งบ้านได้ง่าย รวมทั้งมีการใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งมันไปอยู่กับผนังสีอะไรก็ได้ จะเป็นผนังสีเรียบๆ สีขาวหรือเทา มันก็สวย

ส่วนมุมนี้ก็ยังอยู่ในโทนขาว-เทา-ดำ แต่มีการนำสีทองเข้ามาตัด มันก็เข้ากันดี ดูเรียบๆ แต่น่าสนใจ

พบกับ Designer ทั้งหมด